คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศผลบริษัทที่ได้รับเลือกเข้าโครงการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จากสหกรณ์การเกษตรและหน่วยราชการออกมาแล้ว โดยมีบริษัทพลังงานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งได้โควตาผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายละประมาณ10 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโควตาผลิตที่ต่ำกว่าความคาดหมายมาก
ก่อนที่จะมีการประกาศผลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ กกพ. บรรดาผู้บริหารบริษัทพลังงานบางแห่งกันมาคุยอวดว่า จะได้รับโควตาผลิตเกิน 100 เมกะวัตต์ บางบริษัทไม่ได้ยื่นซองเสียด้วยซ้ำ แต่ผู้บริหารบริษัทกลับโหนกระแสแอบอ้างว่า จะได้รับการพิจารณาผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขาย
เมื่อ กกพ.ประกาศผลการคัดเลือก และแบ่งสรรการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายละประมาณ10 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมผู้บริหารหุ้นกลุ่มพลังงานจึงคาดหมายธุรกิจผิดพลาดมากมายนัก
และการคาดหมายธุรกิจผิดพลาดขนาดหนัก เกิดจากความตั้งใจ แกล้งโง่ หรือโง่จริงๆ จึงไม่รู้ว่า กกพ.ไม่มีทางที่จะจัดสรรโควตาการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้บริษัทใดระดับ 100 เมกะวัตต์ได้
เพราะโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ รวมทั้งหมดมีเพียง 800 เมกะวัตต์ แต่มีบริษัทนับร้อยยื่นซองเสนอตัว และมียอดกำลังผลิตรวมเกือบ 3,000 เมกะวัตต์
ไม่ว่าจะแกล้งโง่ หรือโง่จริง ผู้บริหารหุ้นพลังงานก็ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว โดยผลดำเนินงานของบริษัทไม่ได้เสียหาย แต่นักลงทุนที่เชื่อคำคุยโตของผู้บริหารหุ้นพลังงาน และเข้าไปไล่ซื้อหุ้นหวังเก็งกำไรจากผลประกอบการของบริษัทต้องขาดทุนจากการลงทุน
เพราะราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรับข่าวที่ผู้บริหารบริษัทคุยโวว่า จะได้รับงานใหญ่ มีรายได้ก้อนโตเข้ามา แต่ปรากฏว่า ได้มาเพียงงานเล็กๆ และสร้างรายได้ไม่มาก ราคาหุ้นจึงปรับตัวลงมา
หุ้นกลุ่มพลังงานกลายเป็นหุ้นยอดนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เฮโลเปลี่ยนธุรกิจ หรือขยายธุรกิจไปสู่พลังงานแสงอาทิตย์
และเพียงแค่ประกาศว่าจะเปลี่ยนธุรกิจไปสู่พลบังงานแสงอาทิตย์ ราคาหุ้นก็วิ่งฝุ่นตลบแล้ว
ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นเครื่องมือตัวใหม่ในการสร้างราคาหุ้น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ไม่รู้จะปั่นหุ้นอย่างไรก็ประกาศข่าวเปลี่ยนธุรกิจไปสู่พลังงานแสงอาทิตย์ ก็โกยเงินเข้ากระเป๋าได้แล้ว
หุ้นพลังงานแสงอาทิตย์มีอยู่ประมาณ 40-50 บริษัท ส่วนใหญ่ขาดทุน จึงไม่มีค่าพี/อี เรโชที่จะประเมิน ส่วนบริษัทที่ประเมินค่าพี/อีได้ สัดส่วนค่าพี/อี เรโชก็สูงมาก ระดับประมาณ 50 เท่า
ลักษณะพิเศษของหุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก หรือพลังงานแสงอาทิตย์ คือ ผู้บริหารจะโม้เก่ง บางรายเข้าข่ายสร้างข่าว “แหกตา” นักลงทุนด้วยซ้ำ โดยมักแต่งเรื่องมาขายฝัน เช่น การคาดการณ์แนวโน้มการเติบโต หรืออนาคตกำไรที่สวยหรู รวมทั้งมีโครงการขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากมาย
บางบริษัทโม้ว่า จะขยายการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังประเทศในยุโรป จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ก็มีคำถามว่า เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยก้าวล้ำขนาดไหนจึงบังอาจจะไปลงทุนในประเทศที่เป็นเจ้าเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์
ผู้บริหารหุ้นพลังงานแสงอาทิตย์กำลังแต่งนวนิยายน้ำเน่าเพื่อปั่นหุ้น หลอกกินเงินนักลงทุนรายย่อยหรือเปล่า
หุ้นพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่เป็นหุ้นร้อน มีเจ้ามือ มีการปล่อยข่าว และสร้างข่าวกระตุ้นราคาอย่างต่อเนื่อง และมักจะพูดถึงแนวโน้มธุรกิจในลักษณะที่เกินจริง โดยการปั้นตัวเลขความคาดหมายโควตาที่จะขายไฟฟ้าให้สหกรณ์การเกษตรฯ เป็นสิ่งยืนยันในความจงใจ “แหกตา” เพื่อกระตุ้นราคาหุ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ ควรจะต้องเพ่งเล็งหุ้นพลังงานเป็นพิเศษแล้ว ว่างๆ จะลงไปขอร้องผู้บริหารบริษัทบ้างก็ได้ ขอให้“โม้”น้อยๆ หน่อย หรืออย่า“แหกตา” นักลงทุนมากเกินไป
จะงัดบทลงโทษผุ้บริหารหุ้นพลังงานที่จงใจสร้างข่าวเท็จจริงเพื่อชี้นำราคาหุ้นบ้างก็ได้ เชือดไก่ให้ลิงดูเสียที
ส่วนนักลงทุนที่เสียหายเพราะหลงเชื่อผู้บริหารหุ้นพลังงานขี้โม้ โดยเฉพาะการปั้นตัวเลขโคมลอย การขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้สหกรณ์การเกษตรฯ สามารถเอาคืนผู้บริหารหุ้นพลังงานได้ฯ
จำหน้าผู้บริหารหุ้นพลังงานเอาไว้ ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อไหร่ นัดกันรุมชี้หน้าประณาม ถามหาสำนึกความรับผิดชอบจากการ “ปากพล่อย” จนทำให้ชาวบ้านเสียหาย
อย่าปล่อยให้ผู้บริหารหุ้นพลังงานจอม “แหกตา” ลอยนวล