xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ มอง “คลัง” เก็บภาษีเครื่องดื่มหุ้นกระทบแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อํานวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส
 นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อํานวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุการที่กระทรวงการคลัง เริ่มพิจารณามาตราการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมตามปริมาณน้ำตาล ว่า ส่งผลกระทบต่อหุ้น OISHI, ICHI, SAPPE, MALEE, CBG, SSC 

ทั้งนี้ หาก ครม.อนุมัติคาดว่าการจัดเก็บภาษีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามปริมาณน้ำตาล คือ

1.เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นจากปัจจุบัน และทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขายปลีกปัจจุบัน (ที่รวมภาษีอยู่แล้ว 20%) “เครื่องดื่มในปัจจุบันที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร มีเฉพาะชาเขียว ซึ่งไม่เคยถูกจัดเก็บมาก่อน ซึ่งหากเริ่มมีการประกาศใช้เกณฑ์ภาษีดังกล่าวในงวดปีภาษีในรอบนี้ ชาเขียวจะถูกเก็บไม่น้อยกว่า 20% ส่งผลกระทบต่อหุ้น OISHI, ICHI โดยตรง”

2. เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก ซึ่งเครื่องดื่มที่เข้าข่ายที่จะต้องถูกจัดเก็บเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เก็บอยู่แล้ว คือ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ เป็นต้น “ปัจจุบันถูกจัดเก็บอยู่แล้วในอัตรา 20% หากมีการจัดเก็บรอบนี้เพิ่มอีก ไม่น้อยกว่า 25% ก็จะทำให้ภาษีจ่ายโดยรวมเป็น 36% ส่วนสินค้าที่ไม่เคยถูกจัดเก็บเลยคือ น้ำดื่มผลไม้ ให้ความหวานตามธรรมชาติ และพวกเครื่องดื่มเสริมความงาม (functional drink) จะถูกเก็บในรอบนี้เป็นครั้งแรก ส่งผลกระทบต่อหุ้น SAPPE, MALEE, CBG, SSC”

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดว่ารัฐจะเก็บภาษีสรรมพาสามิตเพิ่มขึ้นราว 10% จากปัจจุบัน ที่ เก็บภาษีจากเครื่องดื่มประเภท Non Alcohol ทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท/ปี (คิดเป็นเพียง 2.3% ของภาษีสรรพสามิตทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็นภาษีที่ได้จากเครื่องดื่มประเภท Alcohol 50% และประเภท Non Alcohol อีก 50%) ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าตลาดของเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยรวมแต่ละปีอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น น้ำอัดลมมีมูลค่ามากที่สุดราว 42% รองลงมาคือ น้ำดื่ม 23% เครื่องดื่มชูกำลัง 12.6% ชาพร้อมดื่มและน้ำผลไม้มีสัดส่วนใกล้กันที่ 6.3% กาแฟ 5% และเครื่องดื่มสมุนไพร ราว 4.8% เป็นต้น “มองว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนน่าจะมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คาดว่าผู้บริโภคน่าจะมีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นราคาขาย (High price Elasticity) ดังนั้น ผู้ผลิตน่าจะแบกรับภาระต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นบางส่วน และผลักให้ผู้บริโภคเพียงบางส่วน”

ทั้งนี้ โดยรวมฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส คาดว่าน่าจะกระทบต่อต้นทุน และ Gross Margin ของผู้ผลิตเครื่องดื่มดังกล่าว โดยหากพิจารณารายสินค้าพบว่า เครื่องดื่มชูกำลังน่าจะกระทบมากสุด เพราะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 18 กรัม/100 มิลลิลิตร นำโดย CBG ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มยาชูกำลัง (คาราบาว เกลือแร่) 100%

รองลงมาคือ เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ และ Functional Drink ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 12-15 กรัม/100 มิลลิลิตร น่าจะกระทบต่อ MALEE และ SAPPE (FV@B20) แต่เนื่องจาก SAPPE มีสัดส่วนการขายในประเทศเพียง 40%ของยอดขายรวม อีก 60% ส่งออกตลาดต่างประเทศ คาดว่าผลกระทบต่อมาตรการภาษีจะมีเฉพาะส่วนที่ขายในประเทศ ตามมาด้วยเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 10-12 กรัม/100 มิลลิลิตร นำโดย SSC มีสัดส่วนการผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม เช่น EST และ 100PLUS และเครื่องดื่มชา LIPTON เครื่องดื่มแรงเยอร์ เป็นต้น

สำหรับเครื่องดื่มชาเขียว มีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 7-9 กรัม/100 มิลลิลิตร มี 2 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจ คือ ICHI และ OISHI ทั้งนี้ คาดว่า ICHI (FV@B14.9) น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากธุรกิจกระจุกตัวในธุรกิจเครื่องดื่ม 100% ของรายได้รวม และเน้นขายเพียงตลาดในประเทศทั้งหมด รองลงมาคือ OISHI (FV@B92.5) เนื่องจากมีการกระจายธุรกิจ โดยธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวมีสัดส่วน 50% และร้านอาหาร 50%

พร้อมกันนี้ ฝ่ายวิจัยฯ มองว่า หุ้นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ เพราะร้านค้าปลีก และโมเดิร์นเทรดเป็นช่องทางการจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าว อันได้แก่ TNP BIGC CPALL และ MAKRO เป็นต้น แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดแต่ไม่มากนัก เนื่องจากสัดส่วนยอดขายเครื่องดื่มต่อยอดขายรวมของบริษัทไม่มากนัก นำโดย TNP มีสัดส่วนมากที่สุดราว 10% ขณะที่ BIGC CPALL MAKRO มียอดขายไม่เกิน 5% ต่อยอดขายรวม
 


 
กำลังโหลดความคิดเห็น