xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าเก็บภาษีน้ำหวาน คลังถกสรรพสามิตหาอัตราที่เหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด “คลัง” รับลูก “สปท.” เตรียมเรียกสรรพสามิตถกปูทางเก็บภาษีน้ำหวาน โดยจะกำหนดอัตราที่เหมาะสมก่อนจัดเก็บจริง หวังลดความเสี่ยงไม่ให้คนไทยเกิดโรคอ้วน และความดันเบาหวาน เผยกำลังดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ชงให้ “รมว.คลัง” ก่อนเสนอเข้า “ครม.” อีกรอบ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จะเรียกกรมสรรพสามิต และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาหารือเกี่ยวกับการเก็บภาษีน้ำหวานตามข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพผู้บริโภค เนื่องจากการรับประทานหวานมีผลการศึกษาทางการแพทย์ว่า ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

“คงต้องศึกษาข้อเสนอของ สปท.ที่ให้เก็บภาษีเครื่องดื่ม เช่น ชาเขียว กาแฟ และน้ำผลไม้ หากมีความหวานไม่มากให้เก็บภาษีในอัตรา 20% และหากมีความหวานมากให้เก็บภาษี 25% จะทำได้หรือไม่ และต้องเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี เพราะอาจจะอ้างได้ว่าหากเก็บภาษีน้ำหวานแล้วทำไมไม่เก็บภาษีของหวาน ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน”

นายสมชัย กล่าวว่า การเก็บภาษีน้ำหวานที่ผ่านมา ทางกรมสรรพสามิต ได้มีการศึกษาเตรียมความพร้อมไว้แล้ว เริ่มต้นการเก็บภาษีน้ำหวานชาเขียว กาแฟ และน้ำผลไม้ จะง่ายเพราะเป็นเครื่องดื่มที่ต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมสรรพสามิตอยู่แล้ว แต่ต้องมาศึกษาให้รอบด้านอีกครั้งว่าจะเก็บภาษีสินค้าตัวไหนบ้าง อัตราภาษีเท่าไร และให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี

ขณะที่การควบคุมสินค้าน้ำหวานไม่ใช่มีแต่มาตรการภาษีอย่างเดียว ทางกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็สามารถควบคุมตั้งแต่ต้นทางการผลิตได้ โดยควบคุมว่าน้ำหวาน และขนมหวานจะต้องมีความหวานไม่เกินที่กระทรวงกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องเชิงนโยบายที่มีการหารือร่วมกันอีกครั้ง

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังเปิดเผยความคืบหน้าของการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากคณะรัฐบาลตีเรื่องกลับมาให้กระทรวงการคลังศึกษาทำกฎหมายลูกเพิ่มเติม ตอนนี้ได้มีการเสนอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาแล้วเพื่อนำเสนอให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แผนการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลัง ได้มีการดำเนินการไปมากแล้ว ทั้งการเก็บภาษีมรดก ปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังเหลือที่ยังไม่ดำเนินการ คือ การเก็บภาษีน้ำหวาน ภาษีสิ่งแวดล้อม และการเก็บภาษีโทรคมนาคม ที่เป็นความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิต ซึ่งทางฝ่ายนโยบายยังไม่ตัดสินใจว่าจะให้มีการดำเนินการอย่างไร

มีรายงานแจ้งว่า ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนด

พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอให้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาล คือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขายปลีก และปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ที่สร้างภาระให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเครื่องดื่มในท้องตลาดเกือบทั้งหมดมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ซึ่งมีสมาชิกที่มีอยู่กว่า 36 บริษัท เกรงว่าเรื่องนี้จะสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอาจไม่ช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐบาลในภาพรวม นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเห็นว่าไม่ให้โอกาสกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรพิจารณาถึงการบริโภคในภาพรวมแทนที่จะพุ่งเป้าไปที่อาหาร และเครื่องดื่มชนิดใดชนิดหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น