สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในประเทศไทย หลายภาคส่วนกังวลว่า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เกาะสีชัง เกาะล้าน เกาะสมุย เกาะพีพี ฯลฯ จะขาดแคลนน้ำประปา จนส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลต้องการให้เป็นภาคอุตสาหกรรมหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศแทนอุตสาหกรรมการส่งออกที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัว “ผู้จัดการรายวัน 360” ได้พบกับ “เชิดชาย ปิติวัชรากุล” รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UU ผู้เชี่ยวชาญการผลิตน้ำประปาครบวงจร ได้เข้ามาดำเนินการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ภายใต้สัญญารับจ้างบริหารกิจการประปาจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW ให้แก่เกาะที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย สร้างเสถียรภาพการส่งจ่ายน้ำประปาเพื่อให้เกิดระบบประปาที่สะอาด เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน โรงแรม สถานประกอบการบนเกาะ
รู้จักกับระบบ Reverse Osmosis
ระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล โดยใช้เทคโนโลยีระบบ RO หรือริเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis) เป็นเทคโนโลยีการประปาที่มีความทันสมัย และประสิทธิภาพสูง มีใช้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล ญี่ปุ่น มีหลักการคือ การใช้แรงดันสูงกว่าแรงดันตามธรรมชาติ นำสารละลายที่มีความเข้มข้นสูง (น้ำทะเล) ผ่านเนื้อเยื่อ (Membrane) เพื่อให้ได้มาซึ่งสารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า (น้ำจืด) โดยระบบจะกรองน้ำทะเล หรือที่เรียกว่าสารละลายที่มีความเข้มข้นสูงผ่านเยื่อกรองเมมเบรนที่มีความละเอียดสูงถึง 0.0001 ไมครอน ทำให้สารละลาย สิ่งเจือปน รวมทั้งเชื้อโรคต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่ ที่มีขนาดใหญ่กว่ารูพรุนของเยื่อกรอง Membrane ไม่สามารถผ่านออกจากระบบได้ จะมีเพียงน้ำโมเลกุลน้ำจืดเท่านั้นที่ไหลผ่านออกจากระบบได้
ขั้นตอนการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ผ่านระบบ RO
ขั้นที่ 1.การสูบน้ำทะเล : เป็นการสูบน้ำทะเลมาเก็บไว้ที่บ่อรับน้ำทะเล เพื่อรอเข้าสู่ระบบกรองเบื้องต้น
ขั้นที่ 2.ระบบเตรียมน้ำทะเลเบื้องต้น : เป็นระบบกรองทรายเพื่อคัดกรองสิ่งเจือปนที่มากับน้ำทะเล พร้อมเติมสารเคมีเพื่อกำจัดสาหร่าย และสารจุลชีพก่อนเข้าระบบ RO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองของเยื่อเมมเบรน และช่วยยืดอายุเวลาการอุดตันของเยื่อเมมเบรน
ขั้นที่ 3.ระบบการผลิตน้ำแบบ RO : ระบบจะสูบน้ำทะเลเข้าสู่ระบบกรอง RO โดยใช้แรงดันสูงจาก High Pressure Pump ผ่านเข้าเยื่อเมมเบรนเพื่อกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืด
ขั้นที่ 4.การเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค : จะมีการเติมคลอรีนในอัตราส่วนที่พอเหมาะลงในน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ก่อนเข้าระบบจ่าย ซึ่งสารคลอรีนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด
ขั้นที่ 5.การตรวจสอบคุณภาพน้ำ : จะต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์ควบคุมคุณภาพน้ำประปาเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำประปาที่ผลิตได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
ขั้นที่ 6.ระบบสูบจ่ายน้ำประปา : ระบบจะสูบน้ำจากถังน้ำใสไปตามแนวท่อที่ได้เชื่อมประสานกับระบบท่อเมนหลักเพื่อส่งจ่ายให้แก่ชุมชนต่อไป
ขั้นที่ 7.บ่อปรับสภาพน้ำทิ้ง : เป็นบ่อปรับสภาพน้ำที่ระบายออกจากระบบให้มีคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งสู่ทะเล
นายเชิดชาย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่บริษัท ยูยู เข้ามาผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลในพื้นที่เกาะสมุย ว่า ในช่วงปี พ.ศ.2545-2546 เกาะสมุย ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำประปาบนเกาะไม่เพียงพอ กระทรวงมหาดไทย จึงได้มอบหมายภารกิจให้นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลที่บริษัทฯ มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้อยู่แล้วมาดำเนินการที่พื้นที่เกาะสมุย โดยกล่าวได้ว่า ที่นี่เป็นโรงผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย
“จากจุดเริ่มต้นที่เริ่มส่งจ่ายน้ำในปี 2548 จนถึงปัจจุบันรวมกว่า 11 ปี แสดงให้เห็นว่าระบบน้ำประปาจากน้ำทะเลที่บริษัท ยูยู เข้ามาดำเนินการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพการส่งจ่ายน้ำประปาบนเกาะสมุย พร้อมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำรายสำคัญได้เป็นอย่างดี คาดว่า ฤดูแล้งปี 2559 นี้ เกาะสมุย ก็จะไม่พบปัญหาขาดแคลนน้ำประปาอย่างแน่นอน และหาก กปภ.มีแผนที่จะเพิ่มปริมาณน้ำซื้อขายขั้นต่ำต่อวันมากขึ้น เราก็พร้อมลงทุนขยายกำลังการผลิต โดยแผนในระยะสั้นสามารถเพิ่มชุด RO ในพื้นที่โรงงานเดิมทันที ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกไม่น้อยกว่า 1,000 ลบ.ม. ต่อวัน” นายเชิดชาย กล่าวยืนยัน
ปัจจุบัน นอกจากพื้นที่เกาะสมุยแล้ว บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ ยังผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบ RO ในพื้นที่เกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี อีกด้วย โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 300 ลบ.ม.ต่อวันด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนขยายการลงทุนให้มีการเติบโตทางธุรกิจเพิ่มเติม โดยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประปา ทั้งการพัฒนาต่อยอดระบบ RO และ UF (Ultra- Filtration) ที่สามารถออกแบบให้เหมาะสมต่อแหล่งน้ำดิบ สภาพพื้นที่ และปริมาณความต้องการใช้น้ำ รวมถึงการออกแบบระบบผลิตประปาขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งได้ทั้งแบบถาวร หรือเคลื่อนย้ายได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้ เนื่องจากต้นทุนไม่สูง ติดตั้งง่าย ได้น้ำประปาที่สะอาด และสะดวกต่อการดูแลบำรุงรักษา สามารถการควบคุมระบบจากระยะไกล
“ในอนาคตบริษัท ยูยู ในฐานะผู้นำด้านการบริหารกิจการประปาด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นเพื่อเพิ่มประเภทของผลิตภัณฑ์ และบริการ ขอบเขต และพื้นที่การให้บริการและประเภทของกลุ่มลูกค้า เช่น การผลิตและจำหน่ายน้ำประปาสำหรับลูกค้าภาครัฐ และเอกชน การผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในต่างประเทศ การผลิตและจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรม น้ำ Recycle และการบำบัดน้ำเสีย” นายเชิดชาย กล่าว
นอกจากเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี Reverse Osmosis แล้ว บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ ยังมีกิจการประปาผิวดิน เนื่องจาก บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ มีประสบการณ์ และความชำนาญในการบริหารจัดการระบบน้ำอย่างครบวงจร จึงได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานราชการต่างๆ ให้ร่วมลงทุนเพื่อบริหารกิจการประปาในหลายพื้นที่ ในรูปแบบสัญญาหลายรูปแบบ ได้แก่ สัญญา BOO (Build-Own-Operate) BTO (Build-Transfer-Operate) BOOT (Build-Own-Operate-Transfer) และ Lease ในระยะเวลา 15-30 ปี กับทางคู่สัญญา การร่วมทุนดังกล่าวเป็นการช่วยลดภาระการจัดหางบประมาณการลงทุนของภาครัฐ โดยเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐจากผู้ดำเนินการ (Operator) มาเป็นผู้ควบคุมดูแล (Regulator) ทำให้ภาครัฐสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งในด้านการขยายเขตจำหน่ายน้ำ และการสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำ โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุน และบริหารโครงการทั้งหมด
ปัจจุบัน บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ ได้เข้าทำสัญญาในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำประปาเพื่อทำหน้าที่บริหารกิจการประปา ได้แก่
กลุ่มสัญญาสัมปทาน
•กิจการประปาระยอง ภายใต้สัญญาให้เอกชนผลิตน้ำประปาเพื่อขายให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค ที่สำนักงานประปาระยอง จังหวัดระยอง กับการประปาส่วนภูมิภาค
•กิจการประปาชลบุรี ภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปาเพื่อสำนักงานประปาชลบุรี จังหวัดชลบุรี กับการประปาส่วนภูมิภาค
•กิจการประปาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม ภายใต้สัญญาดำเนินกิจการประปา อบต.หนองขาม กับองค์กรบริหารส่วนตำบลหนองขาม
•กิจการประปาเทศบาลตำบลหัวรอ ภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปาในเขตเทศบาลตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก กับเทศบาลตำบลหัวรอ
•กิจการประปาฉะเชิงเทรา ภายใต้สัญญาให้เอกชนผลิตน้ำประปาเพื่อขายแก่สำนักงานประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ที่สำนักงานประปาฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา กับการประปาส่วนภูมิภาค
•กิจการประปาบางปะกง ภายใต้สัญญาให้เอกชนผลิตน้ำประปาเพื่อขายแก่สำนักงานประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ที่สำนักงานประปาบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา กับการประปาส่วนภูมิภาค
•กิจการประปานครสวรรค์ ภายใต้สัญญาให้เอกชนผลิตน้ำประปาเพื่อขายแก่สำนักงานประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ที่สำนักงานประปานครสวรรค์ออก จังหวัดนครสวรรค์ กับการประปาส่วนภูมิภาค
•กิจการประปาราชบุรี-สมุทรสงคราม ภายใต้สัญญาให้เอกชนผลิตน้ำประปาเพื่อขายให้แก่สำนักงานประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร กับการประปาส่วนภูมิภาค
กลุ่มรับจ้างบริหารกิจการประปา
•กิจการประปาสัตหีบ ภายใต้สัญญาจ้างงานผลิต สูบส่งน้ำประปา บำรุงรักษาระบบประปา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิการบริหารกิจการประปาสัตหีบภายใต้สัญญาให้สิทธิเช่าบริหาร และดำเนินกิจการประปาสัตหีบ และสัญญาซื้อขายน้ำประปา (เพิ่มเติมจากสัญญาหลัก) กับการประปาส่วนภูมิภาค
•กิจการประปาบ่อวิน ภายใต้สัญญาจ้างงานผลิต สูบส่งน้ำประปา บำรุงรักษาระบบประปา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิการบริหารกิจการประปาบ่อวินภายใต้สัญญาดำเนินกิจการประปาพื้นที่บ่อวิน กับเทศบาลตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ และสัญญาดำเนินกิจการระบบประปา อบต.บ่อวิน กับองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อวิน
บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UU แต่งตั้งบริษัทหลักทรพัย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรกึษาทางการเงิน หรือ FA ยื่นแบบคำขออนุญาต เสนอขายหลักทรัพย์ หรือ Filing ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 58