xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ถือหุ้น “ลีซ อิท” ไฟเขียวจ่ายหุ้นละ 18 สต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ถือหุ้น ลีซ อิท ไฟเขียวจ่ายปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 58 เป็นเงินสดในอัตรา 0.18 บาท/หุ้น เริงร่ารับทรัพย์ 25 เม.ย.นี้ ด้านผู้บริหาร “สมพล เอกธีรจิตต์” ตั้งเป้าปี 59 “สินเชื่อ-รายได้-กำไร” โตไม่ต่ำกว่า 30% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ย้ำไม่ประมาท ตั้งการ์ดสูง เพื่อป้องกันความเสี่ยงบิลปลอม แอบย่องเงียบไปเก็บเงินลูกค้า

นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 เม.ย.2559 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานในปี 2558 (วันที่ 1 ม.ค.-ธ.ค.2558) ในอัตรา 0.18 บาท/หุ้น กำหนดจ่ายในวันที่ 25 เม.ย.2559 นี้

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2558 บริษัทฯ มีรายได้รวม 190.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.84 ล้านบาท หรือ 49% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีรายได้รวม 128.07 ล้านบาท และในปี 2558 มีกำไรสุทธิ 70.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.64 ล้านบาท หรือ 47% เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 47.81 ล้านบาท

“แผนการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายสินเชื่อ รายได้ และกำไรเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ทั้งในแง่ของยอดสินเชื่อคงค้าง หรือ Portfolio รายได้ และกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นไปตามแผน 3 ปี (ปี 2557-2559) นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ” นายสมพล กล่าว

สำหรับในส่วนของ Product สินเชื่อ Factoring หรือการรับซื้อหนี้การค้า ในปีนี้ตั้งเป้าการเติบโต 100% อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มียอดรับซื้อหนี้การค้า 3,880 ล้านบาท ด้วยการเร่งขยายฐานลูกค้าใหม่ เพื่อนำเสนอสินเชื่อครบวงจรให้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยใช้จุดแข็ง คือ อนุมัติเร็ว วงเงินสูง และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วน Product สินเชื่อ Bid Bond หรือสินเชื่อเพื่อออกหนังสือค้ำประกันซองประมูล สำหรับ SMEs ที่ทำงานภาครัฐ และต้องการเข้าร่วมประมูลงาน “ลีซ อิท” ตั้งเป้าหมายเติบโตถึง 100% เช่นกัน เพราะจากบรรยากาศที่ภาครัฐให้ความสำคัญต่อการประมูลให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม โดยเปลี่ยนวิธีการประมูลมาใช้ E-Bidding แทน E-Auction เดิม จะทำให้ผู้ประกอบการทั่วไปมีโอกาสเข้าแข่งขันราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในปีนี้จะเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ขณะที่ Product สินเชื่อ Project Backup Financing คาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้ที่ 30% ของรายได้รวมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลิตภัณฑ์นี้ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมที่จะไปเร่งยอดเติบโตในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใสเช่นนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังเร่งตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ไปที่ระดับเป้าหมาย 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

นายสมพล กล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนักในปีนี้ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องตั้งการ์ดสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยง เพราะการรับซื้อหนี้การค้ามีจุดอ่อน 2 จุด ที่ต้องระมัดระวัง คือ บิลปลอม และการแอบไปเก็บเงินของลูกค้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการปรับรูปแบบการทำงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น