xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” นำแถลงผลสอบ “ราชภักดิ์” ไม่พบผิด “เซียนอุ๊” เรียกหัวคิวเอกชนจ่ายกันเอง (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รมว.ยุติธรรม พร้อมบิ๊ก สตง.- ป.ป.ท. แถลงผลสอบอุทยานราชภักดิ์ ระบุ “เซียนอุ๊” เรียกเงินจาก 5 โรงหล่อรวม 20 ล้านจริง แต่เป็นการจ่ายกันเองระหว่างเอกชนกับเอกชน เพื่อตอบแทนทางธุรกิจ ไม่ถือว่าผิดปกติ และเจ้าตัวนำเงินบริจาคคืนแล้ว ส่วนเงินบริจาคมีหลักฐานการใช้จ่ายครบ ไม่พบซื้อต้นไม้ราคาแพงตามข่าว การจัดซื้อจัดจ้างหล่อองค์พระถูกต้อง ราคาตามท้องตลาด



วันนี้ (22 มี.ค.) เวลา 16.00 น. ที่ชั้น 2 ห้องรับรอง กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมแถลงผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังให้มีการตรวจสอบเพิ่มบางประเด็น โดยก่อนการแถลงข่าว นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมาเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการแถลงสรุปผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ค่าหัวคิว 2. การจัดซื้อจัดจ้าง และ 3. การใช้งบประมาณ โดยใน 3 ประเด็นหลักจะมีประเด็นปลีกย่อย ระบุเกี่ยวกับค่าหัวคิวซึ่งมีคนมาร้องเรียนก็เริ่มตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นว่ามีหัวคิวตรงไหนอย่างไร ต่อมาก็มีเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และ การใช้งบประมาณ จึงสั่งให้ตรวจสอบและยึดตามกฎหมาย

นายประยงค์ กล่าวว่า ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเฉพาะเรื่องการหักค่าหัวคิว จึงได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐาน พร้อมทั้งสอบปากคำจากภาครัฐและภาคเอกชน เท่าที่ได้เอกสารหลักฐานทั้งหมดสรุปได้ว่า มีการจ่ายเงินจริงระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน ซึ่งทั้งสองฝ่ายระบุว่าเป็นการให้ค่าตอบแทนการให้งานกัน เมื่อ ป.ป.ท. ดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกไปถึงจำนวนเงิน ซึ่งมีวงเงิน 6 - 7 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง พอไปดูงานค่าจ้างของแต่ละราย ราคาก็เป็นไปตามท้องตลาด ซึ่งเบื้องต้นไม่พบข้อพิรุธอะไร เพราะสามารถจ่ายค่าตอบแทนได้ กรณีที่มีคนหางานมาให้

ด้าน นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สตง. ได้ตรวจสอบประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้งบประมาณ ซึ่งพบปัญหา 5 ประเด็น คือ 1. เงินบริจาค ที่มีคนเป็นห่วงว่าจะเป็นการใช้จ่ายไม่ถูกต้องหรือไม่ 2. การจัดซื้อจัดจ้าง ว่าเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่ 3. เนื้องาน ว่าครบด้านบริหารและเป็นไปตามลักษณะเนื้อโลหะที่นำมาใช้ถูกต้องหรือไม่ 4. ตรวจสอบว่ามีการหักหัวคิวหรือไม่ และ 5. เงินกองทุนมีการบริหารจัดการอย่างไร ทั้งนี้ หลังจากตรวจสอบได้ข้อสรุปว่าเรื่องรับเงินบริจาคใช้บัญชีกองทุนสวัสดิการกองทัพบก แต่จำนวนเงินที่เข้าบัญชีแยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนเงินบริจาคอยู่ในบัญชีต่างหากไม่ได้ปะปนกับเงินสวัสดิการกองทัพบก ซึ่งมี 6 ธนาคารที่เปิดรับเงินบริจาคเข้าบัญชีแต่ปัจจุบันได้ปิดเหลือเพียง 1 บัญชีแล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาเพราะมีการบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างถูกครบถ้วนมาตลอด

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเมื่อเกิดประเด็นขึ้นมาทางกองทัพก็ได้ปิดบัญชีและได้สรุปตัวเลขที่บริจาคมาทั้งหมด ซึ่ง สตง. ได้ถอดเทปว่าใครมีการแสดงตัวในการบริจาคบ้าง โดยตัวเลขทั้งหมดมีการรับผ่านบัญชีเป็นจังหวะเวลาที่มีปัญหาได้ตัวเลขทั้งหมด 733 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย โดยพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้ว 458 ล้านบาท โดยมีทั้งค่าองค์พระประมาณ 318 ล้านบาท และค่าจัดทำเหรียญ 105 ล้านบาท ซึ่งมียอดเงินคงเหลือ 140 ล้านบาทเศษ และยืนยันว่า มีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ ส่วนงบประมาณกลางอีก 63 ล้านบาท ทำเกี่ยวกับ 5 โครงการซึ่งทำไปแล้ว 4 โครงการ เหลือ 9 ล้านบาท อีก 1 โครงการ ยังไม่ได้มีการนำไปใช้ นอกจากนี้ ยังมีเงินของกองทัพบกที่นำมาใช้ทำรั้วในพื้นที่อุทยานทั้งหมด 27 ล้านบาท

“ยังมีผู้บริจาคเป็นสิ่งของ เช่น วัสดุก่อสร้าง ซึ่งทางกองทัพได้เบิกเงินในส่วนนี้มาใช้เป็นค่าแรง ค่าน้ำมัน และค่าเครื่องจักร ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากผู้มีจิตศรัทธา ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีการซื้อต้นไม้ในราคาที่แพงเกินจริง ซึ่งจากการตรวจสอบก็ไม่พบ เป็นแต่เพียงต้นไม้ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมา ซึ่งมีการคิดเพียงแค่ค่าแรงกับค่าน้ำมัน เป็นเงิน 4 ล้านบาท ส่วนการโยกย้ายต้นไม้เข้ามาปลูกยังพื้นที่ของอุทยาน ทางผู้บริจาคเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และก็มีการนำต้นไม้ไปขาย เพื่อจะได้หารายได้เพิ่มเติม” นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า เราตรวจสอบในข้อเท็จจริงและการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหรือไม่ โดย 2 สัญญาไม่พบว่ามีการกระทำผิดระเบียบราชการ และเนื้องานหรือเนื้อโลหะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะสมบูรณ์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องมีผิวขรุขระบ้าง จึงไม่ข้อสังเกตอะไรในประเด็นนี้ ส่วนวัสดุจากตัวองค์พระ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด รวมถึงมีเอกสารการนำเข้าอย่างถูกต้อง และราคากลางก็ยังเป็นไปตามท้องตลาด โดย สตง. ได้ขอขมาองค์พระทั้ง 7 ก่อนจะตัดชิ้นส่วนโลหะที่องค์พระ เพื่อส่งไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบจากทราบว่าเป็นไปตามเอกสารหลักฐานทั้งหมด และมีคุณภาพ จึงยืนยันว่าไม่มีข้อสงสัย

ทั้งนี้ การหักค่าหัวคิวทั้งจากหลักฐานทางการเงินและสอบปากคำของ 5 โรงหล่อ ที่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่ปรึกษา เพื่อให้ได้งานนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงตรงกันว่า มีการจ่ายค่าจ้างให้กับ นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ “อุ๊ กรุงสยาม” 7 เปอร์เซ็นต์ ในฐานะที่ปรึกษา และจากการตรวจสอบประวัติทราบว่าเป็นเจ้าของโรงหล่อและมีฐานะทางสังคม

“ผลงานที่ผ่านมามีการสร้างหลวงปู่ทวด ขนาดหน้าตักกว้าง 24 เมตร บนถนนสายเอเชีย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เงินจากการเป็นที่ปรึกษาของ 5 โรงหล่อ ทยอยจ่ายเป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยเจ้าตัวยืนยันว่ามีสิทธิ เนื่องจากมีหน้าที่คอยแก้ปัญหาหน้างาน ต่อมา เซียนอุ๊ได้นำเงิน 20 ล้านบาท มาบริจาคคืนเป็นเช็ค 5 ฉบับจำนวน 20 ล้านบาท ให้มูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ในพระราชูปถัมภ์ฯ ในนาม 5 โรงหล่อ ซึ่งมีเอกสารการออกใบเสร็จว่าเซียนอุ๊ได้มาบริจาคจริง” ผู้ว่าการ สตง.กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางมูลนิธิสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์มีเงินในบัญชี ณ ขณะนี้ 108 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งทาง สตง.ได้ตรวจสอบภาพรวมโดยทั้งหมดแล้วเท่าที่ดูไม่มีการตกแต่งบัญชี ยืนยันว่าไม่มีการทุจริตที่เอาเงินบริจาคมาคืนหน่วยงานราชการ แต่เป็นการเงินมาบริจาคด้วยความสมัครใจ กรณีนี้เอกชนจึงไม่ผิด ส่วนประเด็นที่ระบุว่าเงินกองทุนสวัสดิการกองทัพบก เนื่องจากตามระเบียบกองทัพมีการตรวจสอบบัญชี และภายในขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ทรัพย์สินอุทยานยังเป็นของทรัพย์สมบัติของราชการ ยังไม่ได้โอนให้กับมูลนิธิ

ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ยืนยันมาตลอดว่าไม่ผิด และเคยต่อว่าตนด้วยซ้ำ ดังนั้นจึง ไม่เข้าใจว่าคำถามของนายจตุพรว่าต้องการสื่ออะไร จากข้อสรุปที่ไปสอบถาม พล.อ.อุดมเดช มีการยอมรับว่าพลาด พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่าหัวคิว ตนไม่พูดกับท่านมานานมาก จนการตรวจสอบจบลงจึงไปเรียนให้ทราบว่า ป.ป.ท. ก็ไปสอบถามท่าน เพราะท่านเป็นพูดคำนี้ออกมา ที่ท่านพูดว่าหัวคิว มันผิด เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีเจตนา แต่เกิดจากผู้สื่อข่าวซักถามและมีการตอบคำถามกันไปมา จึงหลุดคำว่าหัวคิวออกไป โดยไม่เข้าใจเนื้อหาและวิธีการ ส่วนเรื่องเซียนอุ๊ถ้าเป็นข้าราชการก็ส่งให้ ป.ป.ท. ตรวจสอบไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วยืนยันว่าโครงการนี้ไม่มีการทุจริตทุกประเด็น แล้วจะกระทบต่อภาพลักษณ์ คสช.หรือไม่ เพราะสังคมจับตามองว่า คสช.จะคลี่คลายไปในแนวทางใด พล.อ.ไพบูลย์ ตอบกลับว่า บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และการสอบไม่สร้างศรัทธาสังคม ตนไม่มีขีดสามารถทำให้ชาวบ้านเชื่อหรือไม่เชื่อได้ ใครมีข้อมูลเพิ่มก็ให้ส่งมา อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ตรวจสอบหากไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงก็จะโดนตรวจสอบเหมือนกัน ก็ขอขอบคุณนายจตุพรที่ห่วงใยบ้านเมือง หากมีข้อมูลอะไรก็ส่งมา การตรวจสอบเรื่องนี้ยังไม่เสร็จ ยังมีหน่วยงานรัฐตรวจสอบประเด็นอื่น ๆ ต่อไปอีก

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวหลังการแถลงเสร็จสิ้นว่า จากการฟังแถลงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ในวันนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. เคยแถลงมาเป็นเดือนแล้ว ก่อนทาง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาแถลงซ้ำครั้งที่สอง เท่ากับวันนี้เป็นครั้งที่สาม เรื่องก็ยังไม่จบ แต่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว หลังจากนี้ ป.ป.ช. จะรับเรื่องดำเนินการต่อ และตนมีข้อมูลบางส่วนยื่นให้ตรวจสอบด้วย ซึ่งหากเรื่องนี้โปร่งใสจะห้ามประชาชนไม่ให้เดินทางไปตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงทำไม

“การสอบสวนข้อเท็จจริงต้องนำมารายงานเสนอต่อประชาชน ไม่ใช่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ทำให้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในสังคม ซึ่งอยากให้ โครงการอุทยานราชภักดิ์ มีความโปร่งใสเนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญของคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนี้ ตนยังติดใจคำว่า “ค่าจ้างที่ปรึกษา” นับเป็นวาทกรรมเกิดขึ้นหลังคำว่า “หัวคิว” โดยเสนอราคาบวกค่าหัวคิวเกินราคาจริงหรือไม่ ซึ่งกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ องค์กรรัฐต้องควบคุมดูแล ซึ่งขั้นตอนมีพิรุธพบว่า “เซียนอุ๊” ที่หายหน้าไปหลายเดือนกลับนำเงินมาบริจาคคืนทั้งหมด สุดท้ายตนมองว่า พล.อ.อุดมเดช ทราบผลมาเป็นเดือนเกี่ยวกับผลสอบพบสุจริต ก่อน สตง. มาแถลงเท่ากับเป็นการชี้นำ ผลลัพธ์ล่วงหน้าเป็นเดือน” นายจตุพร กล่าว
อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น