ธปท. ชี้มาตรการกระตุ้น ศก.รอบ 3 ส่งผลดีการจับจ่ายช่วงสงกรานต์ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อน ศก. ระบุหากไทยต้องการให้จีดีพีขยายตัวได้สูงถึง 4% ต้องเร่งให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ปัยจัยเสี่ยงจาก ศก.โลก-จีนยังต้องจับตาใกล้ชิด
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ กนง.จึงได้ปรับลดประมาณการปีนี้เหลือโตร้อยละ 3.1 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3.5 แต่ปัจจัยด้านลบที่มาจากต่างประเทศแย่กว่าคาด โดยเฉพาะการส่งออกของไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด จึงได้ลดประมาณการส่งออกลงเป็นหดตัวร้อยละ 2 จากเดิมมองว่าทรงตัว หรือไม่ขยายตัวมีผลต่อทั้งการบริโภค และการลงทุนในประเทศให้ชะลอลง และการส่งออกของไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยน้อยลง ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม กนง.พร้อมติดตามปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนที่ปรับลงแรงกว่านี้ กนง.ก็สามารถใช้นโยบายการเงินมาช่วยดูแล อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการให้จีดีพีขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 3.5-4.0 ต้องเร่งการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งหากมีการลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน การลงทุนภาคเอกชนจะมากกว่านี้
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3 ในช่วงสงกรานต์เป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยมาตรการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับมาตรการชอปช่วยชาติที่ออกมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่คงไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยเห็นว่าผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีกำลังซื้อ แต่ยังขาดความมั่นใจในการจับจ่าย ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคการเกษตร รายได้ยังต่ำ ทำให้เป็นตัวเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของการบริโภค
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงถึง 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2548