xs
xsm
sm
md
lg

โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ปีนี้ลุ้นฟื้นกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ปีนี้อาจฟื้นกำไร ผลดีจากการไม่ต้องบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสดเหมือนในปีก่อนที่บันทึกสูงถึง 1.15 หมื่นล้านบาท ขณะธุรกิจปุ๋ยรุ่ง แม้ธุรกิจเดินเรือแข่งขันสูง และยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส ที่กดผลงานให้ต่ำลง เผยอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าซื้อกิจการทั้งหมด 2-3 แห่ง ทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมเตรียมงบไว้ที่ 9 พันล้านบาท

นายวิทวัส เวชชบุษกร ผู้อำนวยการสายงานการเงินและการบริหารการลงทุน บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทปีนี้มีโอกาสพลิกกลับมามีกำไร จากปีก่อนที่ขาดทุน 1.13 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัทอาจจะไม่ต้องบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสดเหมือนในปีก่อนที่บันทึกสูงถึง 1.15 หมื่ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปีก่อนขาดทุนอย่างมาก ขณะรายได้คงไม่เติบโต หรือเท่ากับปีก่อนที่ 2.1 หมื่นล้านบาท เพราะธุรกิจเดินเรือเทกอง และธุรกิจถ่านหิน UMS ยังเป็นปัจจัยที่กดรายได้ต่ำ แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจเดินเรือจะมีผลมากที่สุด เพราะค่าระวางเรือปีนี้ลดลงต่ำกว่าปีก่อน และภาวะการแข่งขันสูงก็ส่งผลกระทบด้วย นายวิทวัส กล่าว

โดยธุรกิจที่คาดว่าจะมีผลงานดีต่อเนื่อง คือ ธุรกิจวิศวกรรมเดินเรือของ บมจ.เมอร์เมด มารีนไทม์ มีแนวโน้มกำไรปีนี้มากขึ้นกว่าปีก่อน และมีปริมาณงานเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ปีนี้ และยังขยายฐานลูกค้าออกไปสู่กลุ่มลุกค้าในอิหร่านเพิ่ม ขณะธุรกิจปุ๋ย และคลังสินค้าให้เช่าในเวียดนามภายใต้ บมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) ประเมินว่าปีนี้ยังคงมีการเติบโตทั้งรายได้ และกำไรที่สูงขึ้นจากปีก่อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้ขยายพื้นที่เช่าคลังสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 8,000 ตารางเมตร ซึ่งทำให้ PMTA มีการเติบโตดี

สำหรับธุรกิจเดินเรือเทกอง (TSG) ปีนี้ยังมีแรงกกดันจากค่าระวางเรือที่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 5,000-6,000 เหรียญสหรัฐ/ลำ/วัน จากปีก่อนที่ 7,500 เหรียญสหรัฐ/ลำ/วัน เนื่องจากยังเผชิญต่อภาวะโอเวอร์ซัปพลาย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้การใช้บริการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ปีนี้ธุรกิจเดินเรือเทกองอาจจะยังขาดทุนอยู่ เพราะค่าระวางเรือยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่ 7,000-8,000 เหรียญสหรัฐ/ลำ/วัน และอาจพิจารณาขายเรือเพิ่ม รวมทั้งจะเพิ่มรายได้ และอัตรากำไร (มาร์จิ้น) จากการให้เช่าเรือเหมาลำให้แก่ลูกค้าบางรายที่มีออเดอร์เข้ามา
ขณะที่ธุรกิจถ่านหินภายใต้ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ยังคงกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ เนื่องจากปริมาณการขายถ่านหินปีนี้คาดว่าจะเติบโตเล็กน้อยที่ 200,000 ตัน จากปีก่อนที่ 190,000 ตัน อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนว่าจะต้องตั้งสำรองถ่านหินเก่าอีกหรือไม่ เพราะปีก่อนตั้งสำรองไว้ 270 ล้านบาท

“ยังไม่มีแผนขาย UMS ออกไป แม้เผชิญภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ และเกือบถูกเพิกถอนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ปัจจุบันบริษัทได้แก้ปัญหาโดยการได้เพิ่มทุนให้แก่บริษัท อะธีน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TTA ที่เข้าไปถือหุ้นใน UMS ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของ UMS กลับมาเป็นบวก และการปรับโครงสร้างต่างๆ ประกอบกับวางกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเน้นเพิ่มปริมาณขาย การใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ อย่างเช่น ท่าเรือ และพื้นที่โรงงานเข้ามาผนวกกับลอจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การดำเนินงานของบริษัท และการลดต้นทุนการดำเนินงานให้ต่ำลงแล้ว”

สำหรับแผนเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าซื้อกิจการทั้งหมด 2-3 แห่งทั้งใน และต่างประเทศ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในการซื้อธุรกิจบำบัดน้ำเสียในต่างประเทศขนาดประมาณ 500-600 ล้านบาท ช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่มีอยู่กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทเตรียมงบสำหรับการเข้าซื้อกิจการไว้ที่ 9 พันล้านบาท

นายวิทวัส เปิดเผยอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจาณาการปรับลดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ TTA-W4 และ TTA-W5 ที่เดิมกำหนดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 บาท/หุ้น เนื่องจากเป็นราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายหุ้น TTA ในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาท/หุ้น โดยบริษัทจะปรับลดราคาแปลงสิทธิลงมาให้ใกล้เคียงกับราคาในตลาดหลักทรัพย์เพื่อจูงใจให้มาใช้สิทธิ


กำลังโหลดความคิดเห็น