xs
xsm
sm
md
lg

SCCจ่อซื้อกิจการเน้นลงทุนในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – เอสซีจีฟุ้งครึ่งปีหลังเห็นการซื้อกิจการใหม่ในอาเซียนเพิ่มเติม แต่เมินขยายกำลังผลิตกระเบื้องเซรามิคในฟิลิปปินส์แม้ว่าตลาดดี เหตุต้นทุนค่าไฟสูง หันมาผลิตสินค้าHVAและนำเข้ากระเบื้องจากเวียดนามแทน ยอมรับเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน HVA 50%ในปี58 ทำไม่ได้

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือSCC เปิดเผยว่า จากนโยบายบริษัทที่เน้นการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ครึ่งปีหลังนี้จะเห็นการลงทุนซื้อกิจการ(M&A)ใหม่เพิ่มเติม โดยบริษัทฯยังคงเน้นการลงทุนในอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์เป็นหลัก หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการลงทุนสร้างโรงปูนในลาวและกัมพูชา
เป็นต้น

ส่วนการลงทุนในฟิลิปปินส์นั้นจะยังไม่มีโครงการใหม่เพิ่มเติม จากเดิมที่มีบริษัทร่วมทุนผลิตกระเบื้องเซรามิค แม้ว่าโรงงานดังกล่าวจะเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตแล้ว และสภาพตลาดกระเบื้องเซรามิคยังเติบโตได้ดี แต่จะเน้นการลงทุนเพิ่มนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มมูลค่า (HVA)เหมือนกับไทย แทนการขยายกำลังการผลิตกระเบื้องเซรามิคทั่วไป เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงมาก และหันมาทำตลาดโดยนำเข้ากระเบื้องเซรามิคจากโรงงานPrime Group ที่เวียดนามแทน

นายเชาวลิต กล่าวต่อไปว่า การขยายการลงทุนในไทยนับจากนี้ไปคงไม่มากนักเมื่อเทียบกับอาเซียน แต่จะเน้นการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัท ฯมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้าHVA ในทุกกลุ่มธุรกิจให้ได้ 50%ของรายได้ในปี 2558 แต่เนื่องจากบริษัทฯได้มีการซื้อกิจการโรงงานต่างๆในอาเซียนที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าเกรดทั่วไป ทำให้สัดส่วน HVAในครึ่งปีแรกนี้อยู่ที่ 34% คงเป็นไปไม่ได้ที่สัดส่วน HVA จะอยู่ที่ 50%ในปีหน้า แต่หากคำนวณเฉพาะธุรกิจในไทยที่ไม่ได้รวมการซื้อกิจการในอาเซียนพบว่า สัดส่วนHVAอยู่ที่ระดับกว่า 40%ของรายได้รวม ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

จากเป้าหมายการลงทุนในอาเซียนเป็นหลักเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนับจากนี้ไป จึงเตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทปรับเพิ่มงบลงทุน 5 ปีจากเดิมที่เฉลี่ยลงทุนปีละ 5 หมื่นล้านบาทในเดือนส.ค.นี้ เพราะ ปีหน้าจะสรุปเงินลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดนามจากเดิมที่คาดการไว้ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมองว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากโครงการนี้ได้ล่าช้ามานาน 6-7 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น