ตอนที่แล้วได้อธิบายไปว่าเงินเฟ้อคืออะไร และมีผลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างไร วันนี้เรามาตามต่อกันว่าอัตราเงินเฟ้อเท่าไรถึงจะเหมาะสมต่อการลงทุน
อัตราเงินเฟ้อ ยังเป็นเกณฑ์ชี้วัดการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกอีกด้วย เนื่องจากหากดอกเบี้ยนโยบายอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ แสดงว่าเงินในมือของประชาชนแทบไม่มีค่าใดๆ เช่น เงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แต่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2% แสดงว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจะอยู่ในระดับ 2% เช่นกัน ผลตอบแทนที่ได้จากการฝากเงินจึงแทบไม่มีค่าใดๆ
ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้อยู่ระดับสูงกว่าเงินเฟ้อ อย่างเช่นบางประเทศที่กำลังพัฒนาอาจจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึงระดับเลข 2 หลักก็เป็นได้ (ประเทศไทยเองในอดีตเคยมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึงเลข 2 หลักมาแล้ว)
ขณะเดียวกัน บางประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง อาจจะมีอัตราเงินเฟ้อถึงระดับร้อยเปอร์เซ็นต์ไปจนถึงพันเปอร์เซ็นต์ก็เป็นได้ นั่นหมายถึงเงินที่มีอยู่ในมือประชาชนแทบไม่มีค่าใดๆ ตัวอย่างเช่น ประเทศซิมบับเว ที่เคยมีเงินเฟ้อถึงหลักแสนเปอร์เซ็นต์ แกระทั่งประเทศเยอรมนี ก็เคยมีเงินเฟ้อถึงหลักพันเปอร์เซ็นต์มาแล้วในช่วงหลังสงครามโลก
นอกจากนี้ ยังมีภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงแต่กำลังซื้อของประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในขณะที่เงินเฟ้อขึ้นสูง (Stagflation) สาเหตุหลักมักเกิดจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงแต่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นอย่างรุนแรง ยกเว้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน เนื่องจากราคาพลังงานจะอยู่ในระดับสูง
ในการลงทุน ถ้าหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น เนื่องจากจะเกิดการจับจ่าย และบริโภคในระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากเงินเฟ้อสูงเกินไปกำลังจับจ่ายของประชาชนจะลดลง นักลงทุนต่างชาติจึงจับตาการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจในการนำเงินเข้ามาลงทุน เพราะหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นจะต่ำลงด้วย
ประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็ว ตลาดหุ้นมักจะโตเร็วด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ประเทศจีนในช่วงก่อนปี 2008 ตลาดหุ้นได้ขึ้นมาสร้างจุดสูงสุด รวมถึงอัตราเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน แต่หลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงมาอยู่ในระดับปกติด้วยเช่นกัน
เงินเฟ้อ ยังถูกนำไปเป็นเป้าหมายในการตั้งผลตอบแทนลงทุน เช่น อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3% นักลงทุนจะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้ตัวเลขที่สูงกว่า โดยสินทรัพย์ที่มีความสามารถในการเอาชนะเงินเฟ้อได้มีตั้งแต่หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่น ทองคำ
ส่วนของอสังหาริมทรัพย์ และทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเคลื่อนไหวในระดับเดียวกับเงินเฟ้อ เช่น ค่าเช่าคอนโดมิเนียม ราคาขายที่อยู่อาศัย มักจะปรับตัวขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อทุกครั้ง (ตามต้นทุนที่สูงขึ้น) ส่วนทองคำเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ เพราะสามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้ทั่วโลกโดยที่มูลค่าไม่ลดลงตามเงินเฟ้อ นักลงทุนจึงควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนในสองสินทรัพย์ดังกล่าว เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างพลังงาน และสินค้าเกษตรที่เป็นผู้ผลักดันเงินเฟ้อโดยตรง
นอกจากภาวะเงินเฟ้อแล้วยังมีภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อคือ ราคาสินค้าไม่ปรับตัวสูงขึ้นนักแต่กำลังซื้อของประชาชนไม่ได้เพิ่มด้วยเช่นกัน หรือเศรษฐกิจไม่มีการขยายตัวนั่นเอง อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นในช่วง 20 ปีที่ผ่าน หรือ Lost Decade ซึ่งจีดีพีขยายตัวในระดับไม่เกิน 1% ส่วนเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับไม่เกิน 1% ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นแทบไม่มีการเติบโตด้วยเช่นกัน รวมถึงกลุ่มประเทศยุโรปในปัจจุบันที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
การที่เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจึงเป็นโอกาสดีในการลงทุนเช่นกัน บทสรุปคือ อัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะเอื้อต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในตลาดหุ้นนั่นเอง
Super Trader Team
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง