xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์มอง SET มีโอกาส Sideway Up ขึ้นไปทดสอบ 1,400-1,430 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บล.แอพเพิล เวลธ์” มองดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือน มี.ค.นี้ ยังคงผันผวนในทิศทางปรับตัวขึ้น จากกระแสเงินลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่อีกครั้ง โดยมีโอกาส Sideway Up ขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,400-1,430 จุด ขณะที่ “กสิกร” ประเมิน SET Index ปลายปีแตะ 1,400-1,450 จุด เน้นหุ้นผลงานโต ปันผลดี และนโยบายรัฐเอื้อ

นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอพเพิล เวลธ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน มี.ค.นี้ ยังคงผันผวนในทิศทางปรับตัวขึ้น จากกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลที่คาดจะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่อีกครั้ง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยประเมินแนวต้านที่ระดับ 1,400 จุด

อย่างไรก็ตาม หากได้ปัจจัยบวกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ รวมถึงหากความผันผวนเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันลดลง ดัชนีฯ ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,400 จุดได้ แนะนำซื้อลงทุนหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว เช่น AOT-ERW กลุ่มเศรษฐกิจดิจิตอล เช่น AIT กลุ่มโรงกลั่น IRPC กลุ่ม Big Cap เช่น KBANK-KTB-PTT-SCC

“ดัชนี SET สามารถผ่านแนวต้าน Down Trend บริเวณ 1,350 จุด พร้อมปริมาณการซื้อขายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณบวก ยืนยันการปรับตัวขึ้นต่อของดัชนี ประเมินดัชนีมีโอกาส Sideway Up ขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,400-1,430 จุด จากปัจจัยบวก Fund Flow จากต่างชาติ”

สำหรับเม็ดเงินต่างชาติที่เริ่มไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยนั้น เนื่องจากระดับ Forward P/E ดัชนี SET อยู่ที่ระดับ 13.09 เท่า และมีอัตราจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 3.53% (ข้อมูลสิ้นสุด ม.ค.59) ซึ่งค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอินโดฯ และฟิลิปปินส์ โดยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้แรงหนุนจากแรงซื้อของพอร์ตโบรกเกอร์ 5.68 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิ 491 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทิศทางกระแสเงินทุนของต่างชาติส่วนใหญ่จะเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะสั้น โดยเดือน ก.พ.59 มียอดซื้อสุทธิ 5.9 หมื่นล้านบาท คาดเป็นเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร

ด้าน น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า บลจ.กสิกรไทย มองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2559 ที่ระดับ 1,400-1,450 จุด ซึ่งคิดเป็น P/E ที่ประมาณ 15.5-16 เท่า โดยกลยุทธ์การลงทุนปีนี้จะเน้นหุ้นกลุ่มที่ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง หุ้นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลในระดับดี และหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐบาล เช่น กลุ่มวัสดุและรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มขนส่ง และท่องเที่ยว เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่ยังสามารถขยายตัวได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมามีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นขนาดใหญ่อื่นๆ เนื่องจากมีกระแสเงินทุนไหลกลับเข้าสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในหุ้นขนาดใหญ่ หลังจากปีที่แล้วมีการปรับตัวลดลงไปค่อนข้างมาก ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีการฟื้นตัวขึ้นกว่า 30% ในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้หุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคาร และกลุ่มพลังงานมีการปรับตัวที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในประเทศยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

โดยในปี 58 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) มีผลการดำเนินงานติดลบถึง 14% โดยกองทุนหุ้นไทยส่วนใหญ่ต่างมีผลการดำเนินงานติดลบตามทิศทางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงความกังวลในตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ก่อให้เกิดความผันผวน และแรงเทขายอย่างหนักในตลาดการเงินทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม จากกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นการคัดเลือกหลักทรัพย์เป็นรายตัว (Stock Selection) และการบริหารการลงทุนอย่างระมัดระวังตามภาวะตลาด ทำให้กองทุน LTF ของ บลจ.กสิกรไทย ปรับตัวลงน้อยกว่าตลาด ซึ่งจากผลการดำเนินงานในรอบบัญชีที่ผ่านมา (1 ก.ย. 58-29 ก.พ. 59) กองทุนยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นที่กองทุนถืออยู่ ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยที่ 2.02%-3.22% ต่อปี (ที่มา Bloomberg : ณ วันที่ 3 มี.ค.59)

สำหรับมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 58 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่อง และมีการใช้จ่ายจากภาครัฐเข้ามาช่วยชดเชยกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแรงลง รวมถึงยังมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลที่เริ่มเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในช่วงไตรมาส 4/2558 จนถึงต้นปี 2559

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดการณ์อัตราการขยายตัวอยู่ระหว่าง 2.5%-3.5% หรือเฉลี่ยที่ 3.0% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 ซึ่งขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.8% โดยจะได้รับแรงสนับสนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงาน รวมทั้งช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของภาคการบริโภคภายในประเทศให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงเพิ่มขึ้น ถึงแม้คาดว่าจะอยู่ในอัตราเร่งที่ลดลง ตัวเลขการส่งออกที่ชะลอลง นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับคาดการณ์การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินหยวน อาจส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงเศรษฐกิจไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น