xs
xsm
sm
md
lg

เผยนักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสิกรฯ มองแนวโน้มบาทอ่อนแตะ 36 บาท/ดอลลาร์ ส่วนหุ้นไทยดิ่งต่ำกว่า 1,300 จุด กระตุ้นให้เกิดแรงเทขาย ชี้นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร ขณะที่ทั่วโลกจับตาเฟดสัปดาห์นี้จะขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 9 ปีหรือไม่

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (8-11 ธ.ค.) เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ จากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ นอกจากนี้ สกุลเงินในภูมิภาค (นำโดยเงินหยวน) และสินทรัพย์เสี่ยงยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ยังมีภาพอ่อนแอ

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรไทยในทุกวันทำการของสัปดาห์นี้ โดยในวันศุกร์ (11 ธ.ค.) เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ 36.08 บาทต่อดอลลาร์ หลังอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ ในระหว่างวัน เทียบกับระดับ 35.88 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 ธ.ค.)

ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทย ( SET) ปิดที่ระดับ 1,280.92 จุด ลดลง 3.95% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 2.71% จากสัปดาห์ก่อนมาที่ 39,773.71 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 520.02 จุด ลดลง 4.40%

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับร่วงลงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ นำโดยหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับร่วงลงตามราคาน้ำมันโลก ขณะที่แรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติกดดันหุ้นขนาดใหญ่ให้ปรับลดลง ท่ามกลางความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมทั้ง ความผิดหวังจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น้อยกว่าคาดของธนาคารกลางยุโรป นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นไทยปรับร่วงลงหลุดระดับ 1,300 จุด กระตุ้นให้เกิดการเทขายจากนักลงทุนอีกด้วย

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.90-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,265 และ 1,250 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,290 และ 1,307 จุดตามลำดับ

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 16 ธ.ค. และผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (15-16 ธ.ค.) ซึ่งเฟดอาจมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2549 รวมถึงของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันพฤหัสบดี
กำลังโหลดความคิดเห็น