xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาคาร” จุดเริ่มต้นของทุกวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


Satan Uses Money หรือเงินตราคือปีศาจร้าย เป็นคำที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ชัดเจนว่าเงินคือศัตรูของพระเจ้า และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าวิกฤตเศรษฐกิจของโลกล้วนแล้วแต่มีจุดกำเนิดมาจากภาคการเงินทั้งสิ้นแล้วถึงจะลามไปยังภาคเศรษฐกิจจริง

ทฤษฎีสมคบคิด หรือ Conspiracy Theory ยังระบุถึงชื่อองค์กรลับอย่างอิลูมูนาติ (Illumunati) ที่เป็นหนึ่งในผู้บงการโลกใบนี้ ยังประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย (มีแม้กระทั่งธนาคารแห่งหนึ่งของไทย)

ปี 2008 ซึ่งเกิดวิกฤต Sub Prime ก็เกิดขึ้นจากสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่ขาดทุนจากการลงทุนตราสารแปลกๆ อย่างพวก CDS เช่น เลห์แมนบราเดอร์ ที่มีอายุกว่าร้อยปียังเจ๊งไปต่อหน้าต่อตา ต่อมาแบงก์ใหญ่ๆ ทั่วโลกก็ล้มตามกันไป
นเรศ เหล่าพรรณราย
ล่าสุด เค้าลางของวิกฤตเริ่มส่อเค้ากลับมาอีกครั้งด้วยปัญหาของภาคการธนาคารอีกจนได้ ล่าสุดคือ ดอยทช์แบงก์ ของเยอรมนี ที่กำลังประสบปัญหาต่อการขาดทุนจากการไปลงทุนในตราสาร CDS ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงอย่างหนักกว่า 90% ในเวลาไม่ถึง 2 ปี ประกอบกับธนาคารอื่นๆ ของยุโรป อย่าง เครดิตสวิส บาร์เคลย์ (รายนี้เป็นสปอนเซอร์การแข่งขันพรีเมียร์ลีกเชียว) ยูบีเอส ประสบปัญหาราคาหุ้นร่วงหนักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึง 20-30% ส่วนธนาคารสหรัฐฯ เองอย่างแบงก์ ออฟ อเมริกา ซิตี้กรุ๊ป เวลฟาโก ราคาหุ้นก็ร่วงลงไปถึง 20% เช่นกัน

ยิ่งเวลานี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะต้องงัดแผนลดดอกเบี้ยให้ติดลบสูงขึ้นไปอีก อาจส่งผลเสียต่อแบงก์ในยุโรปที่ถูกบีบให้นำเงินออกไปลงทุน (ไม่กล้าปล่อยกู้กันเพราะเสี่ยงสูง สู้เอาไปลงทุนตราสารต่างๆ ที่คุมความเสี่ยงได้เองดีกว่า )

ขณะเดียวกัน ภาคธนาคารของจีนก็มีความเสี่ยงระดับสูงไม่แพ้กัน โดยนาย Kyle Bass ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Hayman Capital Management ผู้เคยฟันกำไรจากการ Short ตลาดหุ้นในช่วงที่เกิดวิกฤต Sub Prime ว่าหากภาคธนาคารของจีนสูญเสียมูลค่าสินทรัพย์ของตัวเองลง 10% จากหนี้เสีย หรือ NPL ซึ่งอาจมีมูลค่าถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญ ธนาคารกลางจีนอาจจะต้องใช้เงินกว่า 10 ล้านล้านหยวน ในการเข้าไปอุ้มภาคธนาคาร นอกจากนี้ เงินหยวนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ยังกดดันภาคการเงินของจีนอย่างมาก


เขาประเมินว่าความเสียหายที่เกิดจากภาคธนาคารของจีนอาจสร้างความเสียหายกว่าสมัยวิกฤต Sub Prime ถึงกว่า 4 เท่าก็เป็นได้ ที่น่ากลัวคือ ภาคธนาคารของจีนถูกควบคุมอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ เราไม่มีทางรู้ว่ามันเสียหายจนกว่าปัญหาจะเกิดขึ้นแล้วก็ได้


แม้แต่ในประเทศไทยเอง ภาคการธนาคารก็อาจมีปัญหาได้เช่นกัน อย่างตอนนี้เราจะเห็นข่าวการพิจารณาปล่อยกู้ให้แก่ผู้ที่ชนะการประมูลใบอนุญาต 4G ที่มีปัญหาคาราคาซังเนื่องจากแต่ละรายไปประมูลมาด้วยวงเงินที่สูงกว่าที่คาดไว้ ยังไม่นับรวมการออกแบงก์การันตีให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่มีปัญหาขาดทุนกันเป็นส่วนใหญ่อีก ยังไม่กล้ามองไปถึงว่าถ้าหากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น แบงก์พาณิชย์ไทยจะมีความสามารถในการปล่อยกู้ได้อีกไหม


ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยใช้ความระมัดระวังในการปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่มาโดยตลอด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อบริษัทเหล็กรายใหญ่เจ้าหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ 3 แบงก์ของไทย เริ่มทำให้ไม่มั่นใจแล้วว่าระบบการพิจารณาปล่อยกู้ขาดความรอบคอบหรือไม่


ขอปิดท้ายด้วยประโยคที่ว่า “ธนาคารมักจะยื่นร่มมาให้เราเวลาที่ฝนไม่ตก และดึงร่มกลับเวลาที่ฝนตก” จับตาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ดีๆ ครับ

นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น