บอร์ด BJC ไฟเขียวเข้าซื้อหุ้น BIGC มูลค่า 1.22 แสนล้าน ตามเงื่อนไขที่ TCC ได้ทำสัญญากับกลุ่มคาสิโน โดยจะเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือสัดส่วน 41.44% ที่ราคาไม่เกิน 252.88 บาท/หุ้น คาดดีลจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.นี้ เตรียมกู้เงินระยะสั้น 2.2 แสนล้าน ก่อนพิจารณาเพิ่มทุน ย้ำการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวไม่เข้าข่าย Back Door Listing
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) อนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อมใน บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) จำนวน 58.56% มูลค่า 1.22 แสนล้านบาท ตามเงื่อนไขที่บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TCC) ได้ทำสัญญากับกลุ่มคาสิโน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BIGC ก่อนหน้านี้
หลังจากนั้น BJC จะเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือสัดส่วน 41.44% ใน BIGC ที่ราคาไม่เกิน 252.88 บาท/หุ้น โดยคาดว่าการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค.59
พร้อมทั้งอนุมัติให้ BJC กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะสั้น ไม่เกิน 12 เดือน ในการเข้าซื้อหุ้น BIGC ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดด้วย ในวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการอาจพิจารณาให้มีการเพิ่มทุนในจำนวน และสัดส่วนที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการใช้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อชำระคืนหนี้กู้ยืมดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการนำเสนอเพื่อขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น C-Distribution Asia Pte Ltd. (C-Distribution Asia) สัดส่วน 60% จาก CdiscountInternation BV ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันกับ Geant International BV ในกลุ่มคาสิโน ในราคาซื้อขายรวม 856 ล้านบาท ซึ่งจะชำระเป็นเงินสกุลยูโร ขณะที่ C-Distribution Asia เป็นผู้ถือหุ้นในซี-ดิสเค้าท์ (Cdiscount) ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรับสินค้าที่ BIGC สาขาต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทำรายการผ่านช่องทางออนไลน์
ทั้งนี้ BJC ระบุว่า การเข้าซื้อหุ้น BIGC ทั้งทางตรง และทางอ้อม รวมถึงการซื้อหุ้น C-Distribution Asia ตามเงื่อนไขของสัญญาจะทำการขายหุ้น BIGC ดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท เนื่องจากการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประมูลและเข้าทำสัญญาจะทำการขายหุ้น BIGC ในคราวนี้เป็นกรณีที่บริษัทอาศัยชื่อของ TCC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ดำเนินการยื่นประมูล และเข้าทำสัญญาไปก่อนแทนบริษัท จึงเป็นกรณีที่ TCC กระทำไปตามที่ได้รับมอบหมายในฐานะตัวแทนของบริษัท ซึ่งบริษัทในฐานะตัวการจึงมีสิทธิเข้าซื้อหุ้นและ/หรือให้บริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นตามสัญญาจะทำการขายหุ้น BIGC จากผู้ขายได้โดยตรงตามเงื่อนไขของกฎหมาย และหลักการของสัญญาที่ทำขึ้นไว้
ทั้งนี้ ได้แต่งตั้ง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และบริษัท เจดีย์ พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาทางการอิสระของบริษัทเพื่อร่วมกันให้ความเห็นการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยบริษัทกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาการเรื่องการเข้าซื้อหุ้น BIGC ในวันที่ 21 มี.ค.59
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับการจากการลงทุนใน BIGC นั้น คาดว่าจะทำให้บริษัทมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทย และจะมีช่องทางในการกระจายสินค้าของบริษัท อีกทั้งการเข้าซื้อ BIGC เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องต่อกลยุทธ์ของบริษัทในส่วนของธุรกิจค้าปลีก รวมถึงจะเป็นขยายขนาดของบริษัทให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีจุดยืนที่ดีในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตลอดจนประหยัดเงินทุน และสร้างโอกาสในการทำกำไรในอนาคตของบริษัท รวมทั้งการเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้านอื่นๆ ของบริษัท
อย่างไรก็ดี การเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (Back Door Listing) เนื่องจากธุรกิจของ BIGC มีลักษณะที่คล้ายคลึง หรือเสริมกันกับธุรกิจของบริษัท และบริษัทไม่มีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในธุรกิจหลักของบริษัท
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทภายหลังการได้มาซึ่งหุ้น BIGC จะยังคงมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจาก BIGC มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว ซึ่งการเข้าทำรายการครั้งนี้จะไม่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในคณะกรรมการ และอำนาจควบคุมของบริษัท หรือผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมบริษัทแต่อย่างใด
ดังนั้น บริษัทจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นขอให้พิจารณารับหลักทรัพย์ของบริษัทเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ใหม่อีกครั้ง ตามประกาศรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์