ลีสซิ่งกสิกรไทย ปรับแผนรับยอดขายรถยนต์ส่อชะลอยาว หันเน้นรถเพื่อการพาณิชย์เจาะกลุ่มรับเหมาฯ ท่องเที่ยว หวังช่วยดันยอดคงค้างแตะ 9.2 หมื่นล้าน จากสิ้นปีก่อนที่ 8.9 หมื่นล้าน ด้านเอ็นพีแอลยังเพิ่ม ตั้งเป้ากดให้อยู่ที่ 1.91% จากสิ้นปีที่ 1.5%
นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปีนี้เท่าที่หลายค่ายประเมินพบว่า มีโอกาสเคลื่อนไหวอยูในช่วงหดตัว 4-8% หรือคิดเป็นยอดขายปีะมาณ 735,000-765,000 คัน ขณะที่เป้าหมายของบริษัทนั้นคาดการณ์ปล่อยกู้สินเชื่อเช่าซื้อใหม่ และลีสซิ่งไว้ที่ 73,744 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 72,704 ล้านบาท ส่งผลให้มียอดคงค้างสินเชื่อประมาณ 91,950 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 88,671 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 1.91% จากสิ้นปีก่อนที่ 1.50% และมีกำไรประมาณ 728 ล้านบาท จากก่อนปีที่ 655 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแนวทางหลักๆ ในปีนี้ไว้ 5 ด้าน ได้แก่ การเน้นไปที่สินเชื่อกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์มากขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ รวมถึงสินเชื่อรถช่วยได้ที่จะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าได้ในภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ไม่สูงนัก และปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จะเน้นหาพันธมิตรเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้า รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก เพื่อเพิ่มจำนวน Cross Product ของลูกค้า และเพิ่มการสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
“ในปีนี้จะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจเช่าซื้อรถ โดยเฉพาะในส่วนของรถใหม่ที่ประเมินกันว่า ยอดขายรถยนต์ยังจะหดตัวอยู่ 4-8% แต่บริษัทเชื่อว่าแม้ในภาพรวมจะยังดูไม่ดี แต่ในแต่ละเซ็กเตอร์ก็ยังมีกลุ่มย่อยเล็กๆ ที่ยังขยายตัวได้อยู่ ซึ่งการขยายตัวโดยหลักของเคลีสซิ่งแล้ว ก็ยังคงจะมาจากรถใหม่ เพราะมีสัดส่วนมากที่สุดในพอร์ต แต่โดยกลยุทธ์แล้วจะเน้นไปที่รถเชิงพาณิชย์กับสินเชื่อจำนำรถมากกว่า”
ด้าน นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทในปี 2558 ที่ผ่านมา มีสินเชื่อปล่อยใหม่เพิ่มขึ้น 19.13% แต่หากแยกเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ และลีสซิ่งลดลง 7.62% สินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 51.9% จากการหันมาให้ความสำคัญต่อสินเชื่อรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่ง ณ สิ้นปีที่ผ่านมา มีสัดส่วน 36% ของพอร์ตรวม ขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคล 64% โดยรวมมียอดคงค้างสินเชื่อรวมลดลง 1.24% และมีเอ็นพีแอล 1.50% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 1.16%
ทั้งนี้ การคาดการณ์เอ็นพีแอลของปีนี้ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น บริษัทได้พิจารณาจากอัตราส่วนการผิดนัดชำระหนี้ 1 เดือน และ 2 เดือนที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบางส่วนจะไหลไปเป็นเอ็นพีแอล ขณะที่หลักเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อก็ยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง มีอัตราการอนุมัติที่ 70%
จากกรณีการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่จะมีผลในปีนี้ และทำให้รถยนต์ใหม่มีราคาสูงขึ้นนั้นก็ได้ทำให้มีผู้ซื้อรถยนต์เร่งโอนรถไปตั้งแต่ปีทีแล้วไปบางส่วน โดยคาดว่ามีประมาณ 40,000 คัน และจะทำให้ยอดการโอนรถในช่วงครึ่งปีแรกนี้ชะลอไปบ้าง เพราะถูกเร่งไปเมื่อช่วงปลายปีก่อน