จากแรงหนุนค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจากกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วงวันที่ 26-27 ม.ค.59 ขณะที่ล่าสุด หลังการประชุมที่เสร็จสิ้นลง คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้อยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามคาด โดยที่เฟดแสดงความกังวลว่าความผันผวนในตลาดการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เฟดยังไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในเดือน มี.ค.ซึ่งผลของการคงดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อสร้างแรงหนุนต่อทองคำ ราคาทองมีย่อตัวลงบ้างหลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจาการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเหนือความคาดหมาย เพื่อกระตุ้นภาคธนาคารและธุรกิจให้เพิ่มการใช้จ่าย แต่การย่อตัวเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น ก่อนปรับขึ้นต่อเนื่องจากสหรัฐฯ รายงานตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นสำหรับไตรมาส 4 ของปี 2558 ขยายตัวเพียง 0.7% โดยลดลงจาก 2.0% ในไตรมาส 3 และต่ำกว่าระดับ 3.9% ในไตรมาส 2 ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป + ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการของจีนชะลอตัวลงในเดือน ม.ค.เป็นปัจจัยบวก และดึงดูดให้มีแรงซื้อเข้ามาในทองคำอีกครั้ง
ปัจจัยที่น่าติดตาม
2 ก.พ. สหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือน ม.ค.
3 ก.พ.สหรัฐฯ เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ม.ค. / สต๊อกน้ำมันประจำสัปดาห์ / ตัวเลขจ้างงานเดือน ม.ค.จาก ADP / ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ม.ค./ดัชนีภาคบริการเดือน ม.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM)
4 ก.พ.สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ / ประสิทธิภาพการผลิต-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเบื้องต้นในไตรมาส 4/2558 / ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ธ.ค.
5 ก.พ.สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค. / ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือน ธ.ค.
6 ก.พ. สหรัฐฯ เปิดเผยสินเชื่อผู้บริโภคเดือน ธ.ค.
แนวโน้มปรับขึ้นต่อ/แนวโน้มราคาทองโลกด้านเทคนิค
ราคาทองฟื้นตัวขึ้นมาจากแนวรับขาขึ้นเส้นค่าเฉลี่ย 10 วัน พร้อมกับต่อยอดขาขึ้นแท่งเทียนสัญญาณบวกตามแนวโน้มขึ้นเดิมก่อนหน้า + ค่าสัญญาณทางเทคนิคที่ปรับขึ้น ทำให้ราคามีแนวโน้มปรับขึ้นต่อตามแนวขึ้นรูปแบบ ROUNDING BOTTOM แนวรับ 1,080/1,075 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แนวต้าน 1,150/1,155 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์