พีดีเฮ้าส์ฯ โชว์ความสำเร็จ 7 ปี กับการปั้นอาณาจักรพีดีเฮ้าส์จนยิ่งใหญ่ จากปี 52 ยอดขายแค่ 200 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดเป็นปีละกว่าพันล้านในปัจจุบัน แต่ยอมรับแผนขยาย 50 สาขาทั่ว ปท.พลาดเป้า เผยแผนการตลาด 5 ปีข้างหน้า (59-63) พุ่งเป้าบุกตลาด CLMV หวังดันแบรนด์รับสร้างบ้านคนไทยสร้างชื่อประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อตลาดรับสร้างบ้านในอนาคตเน้นแข่งขันนวัตกรรม ชี้ผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัวรอดยาก ด้านแผนรุกตลาดปี 59 ชิมลางเปิดตัว PD Steel House หรือระบบบ้านโครงสร้างเหล็กกล้า ชูจุดเด่นก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน ตั้งเป้าเจาะกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท
นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ เปิดเผยว่า ภายหลังบริษัทฯ ชิงปรับตัว และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจรับสร้างบ้าน เริ่มต้นจาก 1.การนำระบบโครงสร้างคอนกรีตเสา-คานสำเร็จรูป MLS มาใช้ก่อสร้างบ้านทั่วประเทศ 2.การพัฒนาระบบ และขยายสาขาทั่วประเทศในรูปแบบแฟรนไชส์รับสร้างบ้าน 3.การขยายสู่ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 4.การแตกไลน์สู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ และอีเวนต์ ฯลฯ ส่งผลให้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจรับสร้างบ้าน พร้อมๆ กับทำยอดขายกว่า 1 พันล้านบาทในปัจจุบัน จากเดิมเมื่อปี 2552 มียอดขายเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น แม้ว่าจะไม่สามารถขยายสาขาได้ครบ 50 สาขาตามแผนที่วางไว้ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันระดับเดียวกันในธุรกิจนี้ โดยปัจจุบันศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 40 สาขา
สำหรับแผนการตลาดใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทฯ มีแผนจะขยายศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ ออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกัน ทั้งนี้ การลงทุน และขยายสาขาจะเป็นรูปแบบให้สิทธิแฟรนไชส์รับสร้างบ้าน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการสำรวจทำเล และตลาดมาอย่างต่อเนื่อง
“เหตุผลที่เลือกบุกตลาดกลุ่มประเทศเหล่านี้ก่อน เพราะเห็นว่าประการแรก ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไม่มาก ประการถัดมา ผู้บริโภค และประชาชนในกลุ่มประเทศ CLMV มีทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์สินค้าประเทศไทย ประการที่สาม การสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยรุกตลาดต่างประเทศ และประการสุดท้าย เรามั่นใจว่านวัตกรรมสร้างบ้าน และชื่อเสียงของพีดีเฮ้าส์จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุน และผู้บริโภคได้ไม่ยาก ซึ่งการขยายสาขาในประเทศเพื่อนบ้านตามแผน 5 ปี นอกจากจะเป็นการขยายตลาดรับสร้างบ้านแล้ว บริษัทฯ ยังสามารถนำรายได้เข้าประเทศอีกด้วย”
“ปี 2559 บริษัทฯ คาดการณ์ว่า ปริมาณ และมูลค่าตลาด “บ้านสร้างเอง” ยังอยู่ในภาวะทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และเชื่อว่าทิศทางการแข่งขันของธุรกิจสร้างบ้านในอนาคตจะแข่งขันกันเรื่องนวัตกรรม และเทคโนโลยีก่อสร้างบ้านมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยเปิดสู่เออีซีแล้ว ซึ่งคงจะได้เห็นเทคโนโลยีก่อสร้างใหม่ๆ ทั้งจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูป หรือสำเร็จรูปที่จะมาทดแทนแรงงาน และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ดังที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเป็นการพัฒนา และยกระดับอุตสาหกรรมสร้างบ้าน เหมือนหลายๆ ประเทศในแถบเอเชียที่มีการพัฒนาไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น”
ในส่วนของบริษัทฯ เองก็เร่งปรับตัวเองเช่นกัน โดยแผนการตลาดในปี 2559 นี้ ได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ หรือระบบก่อสร้างใหม่เพื่อรุกตลาดรับสร้างบ้านในประเทศ ได้แก่ PD Steel House หรือระบบบ้านโครงสร้างเหล็กแบบ Wall Frame ผลิตจากเหล็กกล้ารับกำลังสูง จุดเด่น คือ สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว หรือภายใน 3-6 เดือน หวังเจาะกลุ่มกำลังซื้อระดับราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มกำลังซื้อของตลาดรับสร้างบ้านที่มีฐานใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ ยังมุ่งจับกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการสร้างรีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศให้เช่า โดยบริษัทฯ มีแบบแปลนให้เลือกปลูกสร้างเกือบ 20 แบบ ทั้งนี้ ตั้งเป้ายอดขายในปีแรกนี้ไว้จำนวน 100-120 หลัง มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาทเศษ ซึ่งตัวเลขที่ตั้งเป้ายอดขายไว้อาจไม่สูงมากนัก ด้วยเพราะเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าใหม่
นางมาลี สุวรรณสุต กรรมการบริหาร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน พีดีเฮ้าส์ ถือเป็นผู้ให้บริการสร้างบ้านที่มีระบบก่อสร้างถึง 3 ระบบ คือ 1.ระบบคอนกรีตหล่อในที่ 2.ระบบพรีแฟบ หรือเสา-คานสำเร็จรูป และ 3.ระบบบ้านโครงสร้างเหล็ก ทั้งนี้ นอกจากเป้ายอดขายบ้านโครงสร้างเหล็ก หรือ PD Steel House ตามที่กล่าวแล้ว บริษัทฯ ยังตั้งเป้ายอดขายบ้านระบบคอนกรีตหล่อในที่ และพรีแฟบไว้อีก 250 หน่วย คาดการณ์มูลค่า 1,200 ล้านบาทเศษ
“ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่ายังชะลอตัวต่อเนื่อง เป้าหมายที่ตั้งไว้อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่จำเป็นต้องตั้งไว้เพื่อเป็นความท้าทาย และถือเป็นบทพิสูจน์ขีดความสามารถขององค์กร”