บอร์ด ก.ล.ต.ไฟเขียวปรับเกณฑ์ลงทุนของกองทุนให้ครอบคลุมหลายเรื่อง เน้นความยืดหยุ่น สอดคล้องต่อแนวทางสากล และพัฒนาการของตลาดฯ ลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ขณะที่ผู้ลงทุนยังคงได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมเช่นเดิม และมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น พร้อมเปิดทางลงกองโครงสร้างพื้นฐานนอกตลาดหุ้นได้
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบการปรับปรุงเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อการลงทุนของกองทุนครอบคลุมหลายเรื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจกองทุนรวมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการหลายด้าน เกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ได้เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่การลงทุนของกองทุนรวม สอดคล้องต่อแนวทางสากล และพัฒนาการของตลาด ลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ขณะที่ผู้ลงทุนยังคงได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมเช่นเดิม และมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น
สำหรับเกณฑ์ที่ปรับปรุงให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การกำหนดประเภททรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้จะกำหนดเป็นหลักการ โดยกำหนดประเภท และคุณสมบัติของทรัพย์สินที่ลงทุนได้ จากเดิมที่กำหนดเป็นรายละเอียดของแต่ละประเภททรัพย์สินที่ลงทุนได้
รวมถึงอนุญาตให้กองทุนเลือกลงทุนในทรัพย์สินได้หลากหลายในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมมากขึ้น เช่น ให้กองทุนรวมที่เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอาจไม่ได้เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยก็ได้ โดยสามารถลงทุนได้ในอัตราส่วนที่กำหนด จากเดิมที่สามารถลงทุนใน Infrastructure Fund เฉพาะที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยเท่านั้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ให้สามารถลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ Infrastructure Fund ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นได้จาก 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เป็นไม่เกิน 30% ของ NAV โดยคำนวณรวมกับการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกอื่นๆ ด้วย เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงอนุญาตให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถจัดตั้งเป็นกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund) ที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์บางกลุ่มอุตสาหกรรมได้ โดยจะจำกัดอัตราส่วนการลงทุนรายสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้แก่สมาชิก PVD อีกด้วย
สำหรับเกณฑ์ที่ปรับปรุงให้สอดคล้องต่อสากล และพัฒนาการของตลาดมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนให้มีการกระจายการลงทุนมากยิ่งขึ้น รวมถึงทบทวนอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินบางประเภท (Product Limit) ให้เหมาะสมต่อสภาพตลาด และการลงทุนของกองทุนรวม เช่น ยกเลิกอัตราส่วน Product Limit สำหรับการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั่วไป
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงเกณฑ์การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ให้เป็นไปตามแนวสากล เช่น การคำนวณอัตราส่วนเพื่อจำกัดการลงทุนใน Derivatives รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การจัดประเภทกองทุนรวมให้สะท้อนความเสี่ยงจากการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยให้พิจารณาจากฐานะการลงทุนสุทธิในทรัพย์สิน (Net Exposure) แทนการพิจารณามูลค่าการลงทุนในทรัพย์สิน และแก้ไขสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ให้เหมาะสม และสอดคล้องต่อประเภทกองทุนนั้น
“การปรับปรุงประกาศดังกล่าวเพื่อความเหมาะสมในทางปฏิบัติ และสอดคล้องต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกองทุนรวม โดยในช่วงปี พ.ศ.2552-2558 ที่ผ่านมา กองทุนรวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 17% ต่อปี ปัจจุบันกองทุนรวมมีสินทรัพย์สุทธิ 3.6 ล้านล้านบาท ประกอบกับการที่บริษัทจัดการมีความสนใจลงทุนในทรัพย์สินหลายประเภท ทั้งใน และต่างประเทศ จึงได้นำข้อเสนอแนะจากการรับฟังความเห็นของภาคธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องมาปรับปรุง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจของบริษัทจัดการลงทุน ขณะที่ผู้ลงทุนจะมีทางเลือกมากขึ้น” นายรพี กล่าว