xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. เพิ่มความเข้มบทลงโทษผู้บริหาร บจ. กระทำผิด นอกจากถูกเปรียบเทียบปรับแล้ว อาจถูกถอดจากตำแหน่งได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. เตรียมทบทวนบทลงโทษผู้บริหาร บจ. กระทำความผิดให้เข้มข้นมากขึ้น หลังใช้มานานกว่า 10 ปี เผยบอร์ดเห็นชอบให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้บริหาร บจ. กรณียอมเปรียบเทียบปรับ สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียง หรือเช่นเดียวกับบทลงโทษการกระทำผิดของผู้บริหารสถาบันการเงิน โดยกฎใหม่คาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เตรียมทบทวนบทลงโทษกรณีผู้บริหารจดทะเบียน (บจ.) มีการกระทำผิดให้เข้มข้นมากขึ้น หลังจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ในกรณีที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับ จากปัจจุบันหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกนั้นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจะถูกเปรียบเทียบปรับ แต่จะไม่ถูกห้าม หรือถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ

โดยการทบทวนบทลงโทษใหม่นี้อาจจะปรับปรุงให้มีลักษณะใกล้เคียง หรือเช่นเดียวกับบทลงโทษการกระทำผิดของผู้บริหารสถาบันการเงิน ที่หากผู้บริหารสถาบันการเงินยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับ จะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน ซึ่งบทลงโทษที่มีการทบทวนของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใหม่นั้นทาง ก.ล.ต. คาดว่า สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ (พ.ศ.2559)

“ก.ล.ต.ได้มีการประชุมกับบอร์ด ก.ล.ต.ครั้งที่แล้ว ก็ได้มีการรายงานการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต.ในเรื่องการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ซึ่งทางบอร์ด ก.ล.ต.ต้องการให้ทางสำนักงานมีการทบทวนการลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขาย เพราะเกณฑ์เดิมนั้นใช้มานานถึง 10 ปีแล้ว จึงอยากให้ทบทวนให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ว่าจะทบทวนอย่างไรได้บ้าง แต่คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะประกาศเป็นแนวปฏิบัติของ ก.ล.ต. และจะเปิดเผยอย่างเป็นสาธารณะอีกทีหากได้ข้อสรุปแล้ว”

นายรพี กล่าวว่า การปรับปรุงบทลงโทษให้มีความเข้มข้นมากขึ้นนี้นเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2559-2561) ของ ก.ล.ต. ที่ต้องการยกระดับ และเพิ่มมาตรฐานของตลาดทุนไทยให้สูงขึ้น และต้องการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานที่ถูกหลักธรรมมาภิบาลทั้งตัวองค์กร และบุคลากรภายในองค์กร

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังหวังที่จะผ่านการประเมินภาพรวมภาคการเงินของไทย Financial Sector Assessment Program (FSAP) ซึ่งจะประเมินโดย World Bank และ IMF โดยจะเข้ามาประเมินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ ก.ล.ต. ในช่วงปี 2562 โดยหากผ่านการประเมินนี้จะทำให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น หลังผ่านการประเมิน FSAP
กำลังโหลดความคิดเห็น