ราคาน้ำมันดิบ BRENT ล่าสุด ณ เวลา 14.41 น. ของวันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2559 อยู่ที่ $30.90 เหรียญ ปรับบวกขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 4 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างที่ทุกคนทราบว่ายังห่างไกลจากระดับสูงสุดที่ราคาน้ำมันทำไว้เมื่อหลายปีก่อนมาก ลองมาย้อนดูอดีตปีสองปีที่ผ่านมากันหน่อยดีกว่า
เมื่อกันยายน ปี 2557 ราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนท์ยังยืนเหนือระดับ $100 เหรียญต่อบาร์เรลอยู่ หลังจากนั้น ใช้เวลาแค่ 4 เดือนปรับลงมาครึ่งนึงมาอยู่ที่ $50 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วงนั้นตลาดให้เหตุผลเรื่องผลอยู่ 3 เรื่องคือ 1.ความต้องการใช้น้ำมันของจีนชะลอตัวจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงของจีน 2.การผลิตพลังงาน Shale Gas ของสหรัฐฯ ที่มากขึ้น และ 3.การส่งออกน้ำมันของประเทศลิเบียที่สูงขึ้น
พอน้ำมันปรับลงมากระดับนั้นความกังวลต่อกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกพลังงานเริ่มน่าเป็นห่วง อย่างเช่น รัสเซีย ที่ถูกสถาบันจัดอันดับ Fitch ลดอันดับจากระดับ BBB ลงสู่ BBB- ทันที หลังจากนั้น น้ำมันก็ยังคงเดินหน้าปรับลงต่อเนื่องหลังจากสมาชิกกลุ่มโอเปกไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง เนื่องจากบางประเทศนอกกลุ่มโอเปกยังมีแนวโน้มที่จะส่งออกน้ำมันในปริมาณมากขึ้นเนื่องจากต้องการรายได้เพิ่มขึ้นมาพยุงเศรษฐกิจในประเทศอย่างซาอุฯ นอกจากนี้ ความตกต่ำของเศรษฐกิจยุโรปก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันน้อยลงด้วย เกิดภาวะอุปทานเกินอุปสงค์มากมาย จึงทำให้น้ำมันดิบเบรนท์ปรับลงเร็วกว่าน้ำมันดิบตลาดสหรัฐฯ อย่างเวสต์ เทกซัสอย่างเห็นได้ชัด
“จนกระทั่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลงต่ำกว่า $30 เหรียญต่อบาร์เรล จากความกังวลของข่าวที่ว่า EU ยกเลิกการคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถกลับมาเปิดการค้าขายกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะยิ่งเพิ่มอุปทานน้ำมันในตลาดโลกให้ล้นเพิ่มขึ้น ถึงขั้นทำให้สมาชิกโอเปกอย่างประเทศเวเนซุเอลา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจเนื่องจากพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก"
การปรับลงแรงของราคาน้ำมันโลกอาจทำให้เกิดวิกฤตด้วยสาเหตุใดได้บ้าง คิดแบบผิวเผิน ก็คงมาจากประเทศที่รายได้พึ่งพาการส่งออกน้ำมันนั่นแหละ ยิ่งประเทศที่มีปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูงๆ ด้วยแล้ว แล้วยิ่งขาดราคาได้ ก็ยิ่งมีโอกาสเจอวิกฤตในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำนวนประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันก็มีจำนวนไม่น้อย หรือวิกฤตอาจจะเกิดจากการผิดชำระหนี้ของบริษัทน้ำมันที่ไปออกพันธบัตรกู้ไว้ก็ได้
แต่น้ำมันลง หลายๆ ธุรกิจก็ได้ประโยชน์ หากเกิดวิกฤตจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำจริงก็ถือเป็นโอกาสของอีกหลายธุรกิจที่อาจฟื้นตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสายการบิน ที่ผ่านมา ขาดทุนกันต่อเนื่องเพราะน้ำมันอยู่ในระดับสูง อุตสาหกรรมยานยนต์ก็น่าจะได้ประโยชน์เช่นกันเมื่อน้ำมันถูกลง คนใช้รถมากขึ้น ความต้องการซื้อรถก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก