ตั้งแต่ปลายปี 2008 จนถึงปลายปี 2015 กินระยะราว 7 ปีที่โลกเราได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐฯ ด้วยวิธีที่เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ เลือกใช้วิธีที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ จนถึงระดับ 0-0.25 เปอร์เซ็นต์ บวกกับการเพิ่มปริมาณเงินเข้าตลาดไปซื้อสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรที่เรารู้จักกันในนาม QE ซึ่งส่งผลทางอ้อมให้มีเงินทุนหมุนไปซื้อสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นแทนพันธบัตรอย่างหุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น พวกสินค้าโภคภัณฑ์จนปรับขึ้นกันทั่วโลก แต่หลักจากเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2015 นี้ วิถีการลงทุนจะไปทางไหน สินทรัพย์ตัวไหน คงไม่มีใครบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากจะให้คาดการณ์ก็น่าจะเป็นไปตามนี้
- เมื่อเฟดเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว น่าจะมีการปรับขึ้นอีกในปีถัดๆ ไป แต่จะขึ้นมากขึ้นน้อย หรือจะถี่ขนาดไหน คงต้องพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยของสกุลเงินใหญ่ๆ อย่าง ยูโร และเยน ที่ยังคงมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับต่ำและยังต้องพึ่งพา QE ต่อไป โดยคาดว่า 4-5 ปีจากนี้ เฟดจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆ และอย่างน้อยในปี 2016 น่าจะปรับขึ้น 2 ครั้งขึ้นไป หรือราว 0.25-0.50 เปอร์เซ็นต์เพิ่มเติมจากเดิม
- การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เกิดการชะลอซื้อชะลอลงทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ในสถิติที่ผ่านมาย้อนไป 40 ปี ที่เฟดเคยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในแต่ละรอบใหญ่ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ของโลกยังมีการปรับขึ้นไปอีกอย่างน้อย 1 ปี โดยให้ผลตอบแทนประมาณ 6-16 เปอร์เซ็นต์จากวันแรกที่เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย เหตุผลที่ตลาดหุ้นยังขึ้นต่อได้เกิดจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกดีขึ้นจริงๆ เป็นเครื่องจักรหลักในการช่วยหนุนให้เศรษฐกิจโตขึ้น
- ราคาน้ำมันสหรัฐฯ ปีนี้เฉลี่ยอยู่ราวๆ $51 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งคาดว่าปี 2016 น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยทั้งปีราว $45 เหรียญต่อบาร์เรล จากผลกระทบที่อุปทานยังคงจะมากกว่าอุปสงค์ เพราะคนมีพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น และต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ กดดันให้ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มาก ปัจจัยนี้จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นได้ไม่มาก เช่นเดียวกับทองคำโลก ที่จะยังไม่ใช่ปีที่ร้อนแรง หรือขึ้นได้มากด้วยปัจจัยนี้ แต่ถือว่าส่งผลดีต่อหุ้นที่มีต้นทุนในการผลิตจากราคาน้ำมัน (หุ้นไทยได้ประโยชน์)
- ตลาดหุ้นจะมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ของภาคเอกชนในหลายๆ ประเทศที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหนี้ของภาครัฐบางประเทศ ที่อาจจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้จนกระทบกันเป็นลูกโซ่ได้ เช่น ความสามารถของบริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ หรือกำไรที่น้อยลงจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันต่อเนื่อง และมีท่าทีว่ายาวนานขึ้น อาจผิดนัดชำระหนี้ตราสารหนี้ที่ตัวเองได้ออกไว้ หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชนในประเทศจีน ที่ผ่านมาโตอย่างร้อนแรงมาหลายปีซึ่งทำให้บริษัทหลายแห่งมีการขยายขนาด และกำลังการผลิต รวมถึงมีสินค้าตุนไว้ในสต๊อกมาก ซึ่งในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นก็อาจส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากการชะลอการลงทุน หรือการซื้อ และอาจส่งผลให้เกิดการล้มละลายได้
- ตลาดหุ้นไทยยังคงต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นหลัก และที่สำคัญคือ ตลาดหุ้นรอความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งว่าจะมีเมื่อไร แต่ตลาดหุ้นไทยก็อาจถูกกดดันด้วยค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเนื่องจากเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ความน่าสนใจในตลาดหุ้นไทยในมุมมองต่างชาติน้อยลง ยิ่งหากความชัดเจนเรื่องเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น จะยิ่งกดดันดัชนีหุ้นไทยต่อไป
- การลงทุนในทองคำ ระยะสั้นๆภายในปีนี้ยังจะเป็นการแกว่งตัวออกข้างลักษณะค่อยๆ ซึมลง แต่ถึงแม้เฟดจะมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเรื่อยๆ หลังจากนี้ แต่ทองคำรับข่าวนี้มาก่อนหน้าแล้วพอสมควร ทำให้คาดว่าการปรับลงจะเป็นการซึมลงมากกว่าการลงแรงเหมือนในช่วงปี 2013 ที่ลงแรงจากการที่ตลาดตกใจเรื่องเฟดลดขนาดคิวอี โดยคาดกรอบราคาทองคำโลกในปี 2016 อยู่ระหว่าง $1,000-1,250 เหรียญ ซึ่งทองคำจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
“สรุปการลงทุนในปี 2016 ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังน่าสนใจ กลุ่มที่น่าจับตายังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้ผลประโยชน์จากการเติบโตของสังคมสูงอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น หุ้นเกี่ยวกับโรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ อาหารเสริม นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเทคโนโลยีออนไลน์ เนื่องจากคนจะติดนิสัยสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อย่างพวกขายของออนไลน์ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเครื่องสำอางในไทยก็ยังน่าสนใจแม้ PE จะค่อนข้างสูง แต่ศักยภาพที่ขยายยอดทั้งในประเทศ และไปยังเพื่อนบ้านยังมีมาก เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มรับเหมาที่เกี่ยวข้องต่อการรับงานจากภาครัฐบาลไทยยังคงจะโดดเด่นต่อไปในปี 2016”
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก