xs
xsm
sm
md
lg

ก.ยุติธรรมให้ความรู้ข้อกฎหมายชาวบ้าน ลดปัญหาเป็นหนี้นอกระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กระทรวงยุติธรรมจัดประชุมเชิงปฏิบัติบูรณาการร่วม สยจ.กับ ศนธ.ยธ.ให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ชาวบ้าน ป้องกันการเป็นลูกหนี้จากนายทุน

วันนี้ (23 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. อาคารอิมแพค เอ็กซิบิชัน เซ็นเตอร์ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี สำนักงานยุติธรรมจังหวัด (สยจ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดระบบเดิม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ระหว่างวันที่ 23-25 ธ.ค.นี้ เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนการบูรณาการภารกิจร่วมกันระหว่าง สยจ. กับศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ สยจ.ทั่วประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมให้กับผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมสนุกพร้อมได้ความรู้ เช่น เกมทางเลือก-ทางรอด รูปแบบการสื่อสารเพื่อทำให้เรื่องกฎหมายเข้าใจง่ายขึ้น อีกทั้งยังสร้างการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึก และสามารถใช้สื่อสารเรียนรู้ได้กับทุกกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

พ.ต.ท.วิชัย ประเสริฐสุวรรณ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาลูกหนี้ในปัจจุบันเราต้องดูว่าในแต่ละพื้นที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน เช่น ภาคอีสานพบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้เกษตรกร ซึ่งเกิดจากการทำสัญญากับนายทุนและสุดท้ายต้องเสียที่ดินทำกินไป อีกกรณีคือปัญหาหนี้นอกระบบจากแก๊งหมวกกันน็อกปล่อยกู้รายวัน ส่วนภาคเหนือชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเกษตร หนี้สินนอกระบบ และหนี้สินที่เกิดจากการทำสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งปัจจุบันหลายรายถูกหลอกลวงผ่านทางอินเทอร์เน็ต เมื่อถึงเวลาติดต่อกับไม่มีเงินจริงๆ รวมทั้งให้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถไถนาของชาวบ้านและให้เงินก้อนหนึ่งมา โดยชาวบ้านต้องผ่อนเงินกู้จำนวนดังกล่าวกับนายทุน ส่วนนายทุนเอารถของชาวบ้านไปขายต่อเรียบร้อยแล้ว

พ.ต.ท.วิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับการทำสัญญาเช่าซื้อเป็นรูปแบบเก่าซึ่งนายทุนต้องการเงินคืนจากลูกหนี้โดยเร็วเพราะบางรายมีการหลบหนีหรือเบี้ยวไม่คืนเงินตามกำหนด ซึ่งการทำสัญญาเช่าซื้อส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีการนำรถยนต์ หรือรถไถ ทำสัญญาเช่าซื้อและนายทุนก็จะนำทรัพย์สินเหล่านี้ไปขายทันที ซึ่งจะทำให้นายทุนได้กำไรมากกว่าเดิม เช่น ชาวบ้านเอารถมาทำสัญญา 1 แสนบาทแต่นายทุนเอาไปขายต่อ 3 แสนบาท เป็นต้น โดยลูกหนี้ก็ต้องผ่อนหนี้ที่ยืมต่อไป ส่วนการที่นายทุนเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปขายได้นั้นเกิดจากการทำสัญญามอบอำนาจซื้อขาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมพวกนายทุนหรือแก๊งหนี้นอกระบบได้เพียงรายย่อยเท่านั้น ซึ่งทางหน่วยงานจะดำเนินการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“จากสถิติข้อมูลรับเรื่อง พบว่าปัจจุบันมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้พืชผลทางการเกษตรมีปัญหา ชาวบ้านจึงต้องหันไปเพิ่งการกู้ยืมเงินนอกระบบ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีเงินทุน จึงจำเป็นต้องเพิ่งเงินจากนายทุน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหนี้นอกระบบขึ้นอยู่กับการเก็บดอกเบี้ยของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแก๊งหมวกกันน็อกจะปล่อยกู้รายวัน มีการเก็บดอกเบี้ย ร้อยละ 2-5 ต่อวัน ส่วนพวกนายทุนในพื้นที่ จะคิดร้อยละ 20 ต่อเดือน จากสถิติการร้องเรียนในรอบ 1 ปี มีผู้เข้ามาร้องเรียนประมาณ 200 เรื่อง คนเดือดร้อนรายกลุ่มประมาณ 500 คน รวมมูลนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท” พ.ต.ท.วิชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกมทางเลือก-ทางรอด “The Choice” มีจำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่อง “ขจิต : เกษตรรุ่นเก๋า” เป็นเรื่องราวของเกษตรกรอยากซื้อเครื่องมือการเกษตร จึงไปขอกู้ยืมเงินนางอ้วน โดยเอาที่ดินไปจำนองเป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายในเรื่อง “จำนอง” 2.เรื่อง “นวล : โกอินเตอร์” เป็นเรื่องของนางล้วนและนวล แม่ลูกที่ประสบปัญหาชีวิต นางอมรเพื่อนบ้านจึงแนะนำให้ไปทำงานต่างประเทศ เป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายในเรื่อง “การทำสัญญาและการชำระหนี้เงินกู้”

3. เรื่อง “ครูโชค : น้ำผึ้งหยดเดียว” เป็นเรื่องของครูต่างจังหวัดที่เห็นโฆษณาของร้านขายรถมอเตอร์ไซค์แล้วเกิดความรู้สึกอยากได้ จึงได้ไปทำสัญญาเช่าซื้อ เป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายเรื่อง “เช่าซื้อ” 4. เรื่อง “อุไร : จำใจจำเป็น” เป็นเรื่องของช่างสปาซึ่งพ่อล้มป่วยจำเป็นต้องหาเงินมารักษา จึงขอกู้เงินจากนางแย้มและทำสัญญาขายฝากกัน เป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายในเรื่อง “การชำระหนี้เงินกู้และการทำสัญญาขายฝาก”

5. เรื่อง “นิ้ง : ป้ายแดง” เป็นเรื่องของช่างแต่งหน้าที่ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ อยากได้รถยนต์ป้ายแดงแต่ผ่อนไม่ไหว เป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายเรื่อง “เช่าซื้อ” 6. เรื่อง “ฤดี : รูดปรี๊ด” เรื่องของพนักงานบริษัทซึ่งขายของออนไลน์เป็นรายได้เสริม ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ส้มลูกน้องไปยกเลิกบัตรเครดิตแทนตน โดยการลงชื่อลอยแต่ไม่กรอกข้อความ เป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายในเรื่อง “บัตรเครดิตและการลงลายมือชื่อในเอกสาร”

7. เรื่อง “ป้านิ่ม : รวยทางลัด” เป็นเรื่องของเเม่ค้าส้มตำที่ชอบเล่นหวยจนต้องไปกู้เงินนอกระบบมาเล่นหวยและไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายในเรื่อง “หนี้นอกระบบ” และ 8. เรื่อง “เอก : สิงห์มอเตอร์ไซค์” เป็นเรื่องของพนักงานโรงงานที่อยากได้มอเตอร์ไซค์จึงขอกู้ยืมเงินจากเจ้านาย เป็นการให้ความรู้ข้อกฎหมายในเรื่อง “การทำสัญญากู้ยืมเงินและการเช่าซื้อ”



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น