xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เดินหน้าหนุน SMEs ใช้ Crowdfunding เพิ่มทางเลือกในการระดมทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต.หนุน SMEs ใช้ Crowdfunding เพิ่มทางเลือกในการระดมทุน โดยกำหนดมูลค่าที่จะระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยได้รวมไม่เกินบริษัทละ 40 ล้านบาท โดยในปีแรกต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเสนอขายหุ้นผ่าน funding portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.เท่านั้น

คุณปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจตัวกลางและตลาดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เตรียมปรับหลักเกณฑ์การลงทุนใน Crowdfunding เพื่อสนับสนุนการลงทุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ตํ่า

โดยทาง ก.ล.ต.จะมีการปรับหลักเกณฑ์สำหรับการลงทุนใน Crowdfunding ให้ยืดหยุ่นขึ้น หลังจากหลักเกณฑ์เดิมสำหรับการลงทุนมีความเข้มงวดมากเกินไป ส่งผลให้การลงทุนใน Crowdfunding เกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้ คาดว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะแล้วเสร็จ และสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงเดือน ก.พ.59

ทั้งนี้ Equity Crowdfunding เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ SMEs หรือ business startup (issuer) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ด้วยการให้หุ้นของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทนแก่มวลชน (the crowd) ที่ลงทุนกันคนละเล็กละน้อยผ่านเว็บไซต์ตัวกลาง (funding portal)

โดยมีมูลค่าการระดมทุน (issue size) ที่ไม่สูงมาก ดังนั้น Equity Crowdfunding จึงเหมาะต่อการระดมทุนของบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ไม่ต้องการทุนมากนัก โดยการที่ Equity Crowdfunding ให้หุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทนแก่ผู้ลงทุน จึงถือเป็นการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนรูปแบบหนึ่งที่จะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก SMEs ส่วนใหญ่แม้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันอาจมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ไม่มีหลักประกันที่เอามาใช้ในการกู้ยืม ดังนั้น ก.ล.ต.จึงได้มีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs มีช่องทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน การกำกับดูแลจะต้องไม่สร้างภาระ และต้นทุนที่สูงจนเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของ SMEs ในขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนยังต้องได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.จึงใช้แนวทางกำกับดูแลแบบผ่อนคลายสำหรับการเสนอขายหุ้นแบบ Equity Crowdfunding กล่าวคือ ในด้านบริษัทที่เสนอขายหุ้นบริษัทที่ต้องการระดมทุน (ซึ่งเป็นได้ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด) จะต้องเสนอขายหุ้นผ่าน funding portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.เท่านั้น จึงจะถือว่าการเสนอขายหุ้นได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

โดยบริษัทมีหน้าที่ และรับผิดชอบเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวบริษัท และการนำเงินไปใช้ในโครงการโดยที่ ก.ล.ต.จะไม่ได้เข้าไปกลั่นกรองคุณสมบัติของบริษัทที่เสนอขายหุ้น ดังนั้น funding portal จึงมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่คัดสรรบริษัทที่น่าเชื่อถือมาเสนอขายหุ้นจัดให้มีช่องทางรองรับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท การจองซื้อหุ้น และการสื่อสารระหว่างบริษัท และผู้ลงทุนรวมทั้งการให้ความรู้แก่สมาชิกที่เข้ามาลงทุน

สำหรับในด้านผู้ลงทุนนั้น เนื่องจากธุรกิจที่เข้ามาระดมทุนด้วยวิธี Equity Crowdfunding เป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงยังมีความเสี่ยงสูงต่อความอยู่รอดของธุรกิจ และหากเป็น startup โอกาสที่จะประสบความสำเร็จภายใต้โครงการอาจจะไม่มากนัก (ในต่างประเทศมีความสำเร็จเฉลี่ยเพียง 20-30%) ในขณะที่อาจสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้สูงมากจนคุ้มต่อส่วนที่สูญเสียไป

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลงทุนผ่านช่องทางนี้จึงต้องเข้าใจถึงความเสี่ยง และดูแลตนเองมากขึ้น โดย ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์มาเพื่อจำกัดระดับความเสี่ยง หรือความเสียหายในการลงทุนไว้ในระดับหนึ่ง ทั้งในรูปของวงเงินการลงทุน (investment limit) สำหรับนักลงทุนรายย่อย และวงเงินการระดมทุน (issue size) สำหรับผู้ระดมทุน

อนึ่ง แม้ว่า ก.ล.ต.จะมีกฎเกณฑ์ที่ช่วยจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนรายย่อยไว้ก็ตาม แต่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจต่อความเสี่ยงของธุรกิจ และการลงทุนแบบ Equity Crowdfunding ด้วย เช่น ความเสี่ยงที่อาจจะสูญเงินจากการลงทุนทั้งจำนวน บริษัทอาจจะจ่าย หรือไม่จ่ายเงินปันผลก็ได้ หุ้นที่ซื้อไม่มีตลาดรอง เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือให้นักลงทุนรายย่อยได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่กล่าว ก.ล.ต.จึงได้กำหนดให้ funding portal จะต้องจัดทำการทดสอบความรู้ด้านการลงทุน (Knowledge Test) เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยง รวมทั้งเตือนให้ผู้ลงทุนให้ระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย

โดยปัจจุบัน แม้ว่า ก.ล.ต.ได้ออกกฎเกณฑ์รองรับ Equity Crowdfunding แล้วก็ตาม แต่ความสำเร็จของ Equity Crowdfunding จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่

(1) Funding Portal ซึ่งจะทำหน้าที่คัดสรรบริษัทที่น่าเชื่อถือมาระดมทุน (ทั้งในด้านของการทำธุรกิจ และการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน) จัดให้มี platform การเปิดเผยข้อมูล และจองซื้อหุ้นที่เชื่อถือได้ รวมถึงจัดให้มีช่องทางให้ผู้ระดมทุนกับผู้ลงทุนได้สื่อสารกัน

(2) Issuer ที่มีความตั้งใจจริงที่จะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปดำเนินงานตามแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอไว้ และสื่อสารเป็นระยะเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามความคืบหน้าของบริษัท

(3) Investor ที่มีความรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนผ่าน Equity Crowdfunding รวมทั้งรับผิดชอบในการประเมินตัวเองว่า ยอมรับความเสี่ยงเหล่านั้นได้หรือไม่ก่อนที่จะลงทุน

อนึ่ง การลงทุนใน Crowdfunding จำกัดเฉพาะกรณีนักลงทุนรายย่อย โดยกำหนดวงเงินให้ลงทุนได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาทต่อบริษัท และรวมแล้วไม่เกินปีละ 500,000 บาท ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการระดมทุนจากผู้ลงทุนที่มีความรู้ และประสบการณด้านการลงทุนอยู่แล้ว (non-retail investors) เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน Venture capital ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นต้น จะไม่มีข้อจำกัดในด้านวงเงินการลงทุน

สำหรับการจำกัดวงเงินเฉพาะการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อย โดยกำหนดมูลค่าที่บริษัทจะระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยได้รวมไม่เกินบริษัทละ 40 ล้านบาท โดยในปีแรกต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการระดมทุนจากผู้ลงทุนที่มีความรู้ และประสบการณ์ด้านการลงทุนอยู่แล้ว (non-retail investors) จะไม่มีข้อจำกัดในด้านวงเงินการระดมทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น