“คลัง” แจงฐานะการคลัง 2 เดือนแรกปีงบ 59 ฉลุยแตะ 3.55 แสนล้านบาท อานิสงส์ภาษีน้ำมัน-ภาษีนิติบุคคล ขณะที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สั่งแบงก์รัฐต้องช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกพืชเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างการลงทุนในท้องถิ่น และวางแผนเพิ่มสิทธิพิเศษลงทุนยกระดับเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.-พ.ย.2558) มีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 3.55 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.54 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาษีน้ำมัน และภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการนำส่งเงินคืนจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการ
ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ที่ 6.07 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.37 หมื่นล้านบาท หรือ 5.9% ซึ่งเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 5.68 แสนล้านบาท หรือ 20.9% และรายจ่ายปีก่อน 3.85 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.5% โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 2.08 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย.2558 อยู่ที่ 3.46 แสนล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบว่าเศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่ เพราะฐานรากยังไม่ดีเท่าที่ควร เราต้องยอมรับข้อนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาเรื่องของราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องของชีวิตเกษตรกรซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคน 30 ล้านคนในไทยอยู่ในภาคเกษตร ดังนั้น เมื่อคนส่วนใหญ่จนทำให้อำนาจซื้อมีน้อย และกระทบต่อเนื่องไปถึงเอสเอ็มอี เนื่องจากระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ จะทำอย่างไรที่จะช่วยคนจนให้ได้
โดยในวันที่ 8 ม.ค.นี้ ตนจะเรียกผู้บริหารธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก และให้ภาคการเกษตรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ร่วมกับสหกรณ์ทั่วประเทศ หามาตรการให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้เข้ากับสภาพพื้นที่นั้นๆ และเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงต้องให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษบีโอไอแก่บริษัทที่เข้ามาลงทุนเกษตรในพื้นที่ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาให้เกษตรกรเป็นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม มีธุรกิจท้องถิ่น หรือ สมาร์ท ฟาร์เมอร์ โดยช่วงต้นปีนี้จะให้เกิดการลงทุนในกองทุนหมู่บ้าน ให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เช่น การสร้างฝาย แหล่งน้ำ ยุ้งฉาง โรงงานแปรรูปขนาดเล็ก ซึ่งวันที่ 20 มกราคมนี้ กองทุนหมู่บ้าน และแกนนำชุมชนต้องส่งโครงการที่จะลงทุนมา
นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที จะมีการดำเนินการพัฒนาอินเทอร์เนต บอร์ดแบนด์ อีก 1 หมื่นจุดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจการเกษตรสามารถขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซได้ ให้ธุรกิจท้องถิ่นได้พัฒนา โดยในปีนี้จะได้เห็นดิจิตอล อีโคโนมีในชนบท จะทำให้มีเม็ดเงินเติมเต็มในส่วนนี้ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างประเทศไทย
นายสมคิด กล่าวว่า ตนได้หารือกับกระทรวงการคลังหามาตรการจูงใจจะทำอย่างไรให้บริษัทใหญ่เข้าช่วยเติมเงินในบริษัทขนาดเล็ก โดยอาจจะต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อให้มีเงินทุนสำหรับผู้ที่จะคิดเริ่มต้นในการทำธุรกิจใหม่ และยังสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับบีโอไอให้นำธุรกิจขนาดใหญ่ดึงบริษัทเล็กไปลงทุนในตลาดเออีซี และจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และสร้างความคิดให้แบรนด์ไทยไปยังตลาดนอกให้ได้ โดยเปลี่ยนแนวคิดให้ตลาดเออีซีเหมือนบ้าน หรือแนวคิด เออีซี มายโฮม มาร์เกต
ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ธนาคารออมสินเข้าช่วยเหลือเกษตรกร โดยร่วมมือกับธ.ก.ส.เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก นอกจากนี้ยั งร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในการช่วยเหลือธุรกิจกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง รวมถึงยังร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในการออกโครงการบ้านประชารัฐให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่มีรายได้น้อย และอยากมีบ้านเป็นของตนเอง
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีระยะเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัป และกลุ่มอื่นๆ โดยธนาคารออมสิน ร่วมกับเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารกรุงไทย จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนเอสเอ็มอี วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท แบ่งแห่งละ 2,000 ล้านบาท เบื้องต้น จะแบ่งเป็นกองละ 500 ล้านบาท แยกตามกลุ่มธุรกิจ 4 กลุ่ม นอกจากนี้ ทั้ง 3 ธนาคารยังจะปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีอีกแห่งละ 2,000 ล้านบาท เป็นอีก 6,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนและเงินกู้ทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท