จีน ช่วงชิงตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก โดยเบียดผลัดกันขึ้นครองอันดับ “หนึ่ง” กับสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ “ขาลง” เศรษฐกิจในสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง จนรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE : Quantitative Easing ขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : gross domestic product) มูลค่าสูงเป็น “อันดับ 1” ของโลก จากการบริโภคของประชากรจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน เริ่มส่อเค้า “ชะลอตัว” อย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2558 ที่ผ่านมา จนรัฐบาลจีนต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ประกอบไปด้วย การลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟ โดยจะเพิ่มจำนวนเส้นทางที่จะก่อสร้างในปี 2588 ขึ้น 18% จากที่ดำเนินการในปีก่อนหน้า พร้อมๆ กับประกาศแผนการระดมเงินทุนสำหรับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟโดยการออกพันธบัตรมูลค่า 1.5 แสนล้านหยวน นอกจากนี้ ยังจะจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะระดมเงินอีกปีละประมาณ 2-3 แสนล้านหยวน
ควบคู่กับการขยายความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็ก โดยขยับเพดานรายได้ที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษีให้สูงขึ้น จากเดิมที่ให้สิทธิเฉพาะธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 6 หมื่นหยวนต่อปี
ด้านนโยบายการเงิน จีนพยายามพุ่งเป้าไป “เฉพาะจุด” เช่น 1.การลดภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของรถยนต์ขนาดเล็กมาที่ 5% 2.การลดวงเงินดาวน์อสังหาริมทรัพย์ลงมาที่ 25% สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกในรอบ 5 ปี เป็นผลบวกต่อหุ้นจีน และหุ้นทั่วโลกให้ปรับขึ้นมาจากระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีได้ แม้ว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นจะเบาบาง แต่มาตรการที่เพิ่มเติมกว่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้ารัฐบาลจีนต้องการที่จะฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดให้กลับมาอีกครั้ง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่มีวงเงินมากกว่านี้เป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 5 ครั้ง และลดอัตราเงินสดสำรองส่วนเกิน (RRR) รวมถึงประกาศปรับลดค่าเงินหยวนลงราว 5% สร้างความปั่นป่วนให้แก่ตลาดทั่วโลกอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ขณะนี้ภาวะตลาดการเงินจีนยังคงอยู่ในระดับที่ตึงตัว และกำไรอุตสาหกรรมจีนยังคงหดตัว
ผลสำรวจของภาคเอกชนจัดทำโดยบริษัทไฉซิน ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กิจกรรมภาคการผลิตของจีนเมื่อเดือนธันวาคมโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อยู่ที่ 48.2 ร่วงลงจาก 48.6 เมื่อเดือนก่อนหน้า (ยังต่ำกว่าที่ 50 จุด) ซึ่งเป็นการหดตัวเดือนที่ 10 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจีนจะมีอัตราการเติบโตอ่อนแอที่สุดในรอบ 25 ปี
ขณะที่ PMI ภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นถึง 54.4 จุด สูงที่สุดในรอบ 16 เดือน จุดนี้ ทีมเศรษฐกิจผู้จัดการ 360 อยากให้ทุกท่านตระหนักว่า “เทรนด์” ของโลกเปลี่ยนไป โลกไม่สามารถพึ่งพา “การผลิตสินค้า การส่งออกเป็นหลักได้อีกต่อไป” แต่ประชากรโลกต้องการ “สินค้าด้านการบริการที่ดี มีคุณภาพ” ดังนั้น หากท่านปรับตัว จับหลักให้ถูก แล้วเดินหน้าท่านก็จะผ่านพ้นวิกฤตก้าวเข้าสู่โอกาสใหม่ของชีวิตได้ไม่ยาก
นายเหอ ฟาน นักเศรษฐศาสตร์ของไฉซิน อินไซท์กรุ๊ป ระบุในแถลงการณ์ว่า การร่วงลงของดัชนี PMI “แสดงให้เห็นว่า แรงผลักดันที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเผชิญต่ออุปสรรค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังเผชิญต่อความเสี่ยงสูงที่จะมีความอ่อนแอ” พร้อมทั้งเตือนว่า รัฐบาลจะต้องให้ความใส่ใจต่อปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed และปรับแต่งนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้สอดคล้องกัน
ทันทีที่จีนประกาศดัชนี PMI กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกปรับตัวลดลงทันที เริ่มจากดาวโจนส์ (4 ธ.ค.) ลดลง 1.58%, เอสแอนด์พี ลดลง 1.53%, แนสแดค ลดลง 2.08%, นิกเกอิ ปิดตลาดติดลบไป 3.06%, ฮั่งเสง ล่าสุดร่วง 2.8% และที่หนักที่สุด คือ เซี่ยงไฮ้ ลงถึง 6.85% จนตลาดหุ้นจีนต้องใช้ “เซอร์กิต เบรกเกอร์” (Circuit Breaker) ถึง 2 ครั้ง เพื่อลดความร้อนแรงของแรงขายลงชั่วคราว ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปิดปรับตัวลดลง 1.91% ขณะที่รัฐบาลจีนสร้าง “Surprise” โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนลงไปอยู่ที่ 6.5032 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ 24 พ.ค.2011 สร้างความกังวลว่าจีนจะอ่อนค่าเงินหยวนมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
การปรับลดค่าเงินหยวนส่งผลทันทีต่อคู่ค้าสำคัญอย่าง “เวียดนาม” จนธนาคารเวียดนามต้องปรับลดอัตราอ้างอิงค่าเงินด่องลงเช่นเดียวกัน โดยอ่อนค่าลง 0.03% อยู่ที่ 21,896 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับอัตราดังกล่าวครั้งแรกนับตั้งแต่ 19 ส.ค. หลังค่าเงินดังกล่าวอ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดที่เวียดนามกำหนดไว้ที่ 3% เพื่อให้เป็นไปตามการเคลื่อนไหวของตลาด
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุ จีนลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนไปอยู่ที่ 6.5032 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐไม่กระทบค่าเงินบาท เพราะไทยยังได้อานิสงส์ราคาน้ำมันต่ำ ทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ จีนน่าจะลดค่าเงินหยวนเพื่อประคองเศรษฐกิจมากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างการเรียนรู้ให้ตลาด โดยเงินหยวนอ่อนค่ามีผลโดยตรงต่ออาเซียน เพราะจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ แต่ละประเทศต้องจัดการให้ค่าเงินอ่อนตาม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนกว่าปีก่อน โดยต้องจับตาสหรัฐฯ อาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ต่อเนื่อง และสงครามค่าเงินรุนแรงขึ้น มีโอกาสที่เงินบาทอ่อนไปถึง 40 บาท
ด้านเงินบาทวานนี้ (5 ม.ค.) ปิดที่ 36.126 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจาก 36.162 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปิดตลาด
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังส่งผลกระทบอีกกว่า 50 ประเทศ ผู้ส่งออกวัตถุดิบเพื่อป้อนภาคการผลิต เพราะ ณ ปัจจุบัน การนำเข้าสินค้าในจีนขยายตัวเพียง 0.7% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ที่ต่างมีอัตรานำเข้าลดลง
อีโคโนมิก ไทมส์ ระบุว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเยอรมนี และสหภาพยุโรปที่การส่งออกกว่า 50% ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว โดยในช่วงปีที่ผ่านมา การค้าขายระหว่างสหรัฐฯ และจีนขยายตัวเพียง 1.9% เท่านั้น น้อยกว่าที่ประเมินไว้ว่าอยู่ที่ราว 9.9% โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สิ่งทอ และเหมืองแร่
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่ง โพสต์ เผยแพร่แนะนำรัฐบาลจีนของสถาบันคลังสมองในสังกัดฝ่ายวางนโยบายสูงสุดของจีน (NDRC) ระหว่างการประชุมหารือกันที่กรุงปักกิ่งเมื่อกลางเดือน ธ.ค. เพื่อหาทางหยุดยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ถลำลึกทุกที โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจีนผ่อนคลายความเข้มงวดในการใช้จ่าย เพื่อต้านแรงกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2559 โดยขยายการใช้จ่ายด้านการคลัง คงสัดส่วนดุลการคลังต่อ GDP ในระดับสูง และออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อระดมเงินสำหรับการดำเนินโครงการใหญ่ๆ ในปีนี้
ขณะที่ธนาคารกลางจีนควรปรับลดสัดส่วนการกันสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงปานกลาง เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก นอกจากนั้น รัฐบาลควรลดขั้นตอนที่ทำให้การเดินเรื่องล่าช้าเพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลามาทุ่มเทในการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมมากขึ้น
ผู้จัดการรายวัน 360 นำเสนอให้เห็นว่า ทั้งปี 2559 นี้ จีนอาจปรับลดสัดส่วนการกันสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพราะ
1.จีนหวังจะได้รับผลบวกไปสู่ภาคการส่งออก โดยแข่งกันลดค่าเงินกับประเทศอื่นๆ โดยอาศัยจังหวะที่ Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แต่อย่างที่เราเห็นในอดีตมาแล้วว่า ไม่ได้ทำให้การส่งออกของจีนกระเตื้องสักเท่าไหร่ เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน นานาประเทศก็กำลังแข่งกันทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าอย่างจงใจ และ 2.จีนต้องการให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกของตลาดมากขึ้น
ผลเสียต่อตลาดทุนนั้นเห็นชัดเจนกว่า เพราะการลดค่าเงินหยวนทำให้ผู้นำเข้าในจีนต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งแปลว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ จะยังคงปรับตัวลดลง เพราะจีนคือผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก อุตสาหกรรมแรกในไทย และในเอเชียที่ได้รับผลกระทบเชิงลบแน่นอนก็คือ สินค้าเกษตร และ Commodities ทั้งหลายนั่นเอง
ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนผันผวนเกิดจากแรงเก็งกำไรของ “นักลงทุนรายย่อย” ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 80% ของผู้เข้าลงทุนทั้งหมด ซึ่งนักลงทุนรายย่อย “ส่วนใหญ่ในจีน” ขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุนที่แท้จริง ขณะที่ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยจะมีสัดส่วนนักลงทุนที่สมดุลกันระหว่าง 1.นักลงทุนสถาบัน 2.นักลงทุนต่างชาติ และ 3.นักลงทุนรายย่อย ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตในแต่ละครั้งความผันผวนของดัชนีจึงไม่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม จีนพยายามออกมาตรการแก้ปัญหา และเพื่อพยุงตลาดก็คือ 1.การให้ธนาคารกลางอัดฉีดเงินทุนเข้าไปยังตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายการซื้อหุ้นแบบมาร์จิ้นไฟแนนซ์ แต่หากลงทุนผิดพลาด หรือขาดทุน นักลงทุนก็จะต้องถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่คืนอย่างรวดเร็ว 2.บริษัทโบรกเกอร์ 21 บริษัท รับปากที่จะใช้เงินกว่า 1,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยกันซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาด 3.บริษัทที่จดทะเบียนใหม่ 28 บริษัท ได้ระงับการเข้าตลาดชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์จะนิ่ง และมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้การเข้าตลาดของกลุ่มผลักดันให้ตลาดหุ้นจีนปั่นป่วนขึ้นไปอีกจากการแห่ซื้อหุ้นจดทะเบียนของบริษัทน้องใหม่เหล่านี้
ตลาดหุ้นจีนเริ่มดำเนินมาได้ 24 ปี ราคาหุ้นในวันเปิดตลาดน่าจะ 100 จุด ปัจจุบัน ตลาดหุ้นจีนมีนักเล่นหุ้นกว่า 90 ล้านคน ดัชนีราคาหุ้นเซี่ยงไฮ้พุ่งขึ้นกว่า 2 เท่า ทำสถิติสูงสุดวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ที่ 5,178.19 จุด จากแรงซื้อของนักเล่นหุ้นรายย่อยกว่า 49 ล้านคน ก่อนจะร่วงผล็อยลงมากว่า 32% ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ความมั่งคั่งหายวับไปกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 64.6 ล้านล้านบาท แต่เทียบกับขนาดมาร์เกตแคปหุ้นจีนแล้วถือว่ายังพอรับไหว เมื่อเทียบกับศักยภาพการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนหนึ่งปีย้อนหลังที่มีกำไรกว่า 85% คิดเป็นผลกำไรจากราคาหุ้นโดยเฉลี่ยทบต้นถึงประมาณปีละ 16.5% หรือกว่า 2 เท่าของหุ้นไทย ถ้ารวมปันผลด้วยปีละ 3-4% ผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนก็สูงลิ่วถึงประมาณ 20% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนน่าจะระดับ “ต้นๆ ของโลก”
ประเด็นต่อมาก็คือ เรื่องของผลตอบแทนรายปี ตลาดหุ้นจีนนั้นต้องพูดว่า ปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกนั้น มักจะเป็นปีที่ได้ผลตอบแทนที่สูงมาก คือ ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 64.4% เช่นเดียวกัน ปีที่เป็นลบก็ให้ผลตอบแทนที่เลวร้ายคือ ประมาณลบ 22.2% ต่อปีโดยเฉลี่ย ส่วนในตลาดหุ้นไทยนั้น ผมดูแค่หลังจากวิกฤตปี 2540 เป็นต้นมา ผลตอบแทนของปีที่เป็นบวกนั้นเท่ากับ 37% ต่อปีโดยเฉลี่ย ส่วนปีที่เป็นลบนั้นเท่ากับลบ 21.8% ต่อปี ซึ่งก็ต้องถือว่าผลตอบแทนแต่ละปีนั้นค่อนข้างจะผันผวนรุนแรงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะในปีที่ติดลบ
ถ้ามองใน “ระยะยาว” และลืมความ “ผันผวน” ในแต่ละปี เราก็จะพบว่า ทั้งตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นจีนต่างก็ให้ผลตอบแทนที่ดี หุ้นไทยนั้น ในเวลา 40 ปี ราคาหุ้น หรือดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจาก 100 จุด เป็นประมาณ 1,485 จุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 คิดแล้วคนที่ลงทุนระยะยาว 40 ปีจะได้กำไร หรือผลตอบแทนปีละประมาณ 7% ถ้าคิดรวมปันผลปีละประมาณ 3% ก็คือได้ผลตอบแทนปีละ 10% โดยเฉลี่ย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม “ระดับโลก”
คงต้องจับตากันว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจีนดำเนินการมา รวมถึงที่กำลังจะดำเนินการจะสามารถฉุดให้จีนพ้นจากวิกฤตฟองสบู่แตกได้หรือไม่ แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาสแทรกอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้จัดการรายวัน 360 อยากให้ทุกท่านรับทราบปัญหาด้วยสติ และใช้ปัญหาฝ่าทุกปัญหานั้นออกไป