ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เดินหน้าประชุมสรุปผลโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟฟ้าทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ที่ จ.สงขลา
วันนี้ (26 พ.ย.) ที่โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสาธิต ธรรมประดิษฐ์ รองผู้ว่าฯ สงขลา พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 3) โครงการศึกษาและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รอง ผอ.สนข. กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สนข. กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการโครงการศึกษาและออกแบบทางรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการ พร้อมศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน แนวทางการลงทุนที่เหมาะสม และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ และออกแบบรายละเอียด ประมาณการราคา และจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง เป็นการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดการประชุมในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอภาพรวมการดำเนินการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งศึกษา และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่เริ่มจากชุมทางหาดใหญ่ ผ่านสถานีคลองแงะ และสิ้นสุดที่จุดหยุดรถที่ชายแดนฝั่งไทย รวมระยะทาง 44.5 กม. ซึ่งจะขยายโครงข่ายจากสถานีด่านปาดังเบซาร์ชายแดนมาเลเซีย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางคู่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สายอิโปห์-ปาดังเบซำร์-กัวลาลัมเปอร์-ยะโฮร์บารูห์ ซึ่งจะเชื่อมต่อข้ามไปยังสิงคโปร์ได้
แนวเส้นทาง และรูปแบบที่เหมาะสมเป็นการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ด้วยรางขนาดความกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) เป็นกำรออกแบบปรับปรุงทางวิ่งเดิม และก่อสร้างเพิ่มทางวิ่งให้เป็นทางคู่ ในการศึกษานี้ใช้ความเร็วในการออกแบบ (design speed) ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงต้องมีการปรับแนวเส้นทาง และปรับโค้งเพื่อให้รองรับความเร็วที่กำหนด และมีความปลอดภัยในการเดินรถ เกือบจะตลอดแนวสามารถพัฒนาในเขตทางรถไฟที่มีอยู่ได้ ทำให้มีผลกระทบในการเวนคืนที่ดินน้อย โดยมีเพียงช่วงที่ กม.ที่ 967 ต.ทุ่งหมอ อ.สะเดา ที่ต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมราว 22 ไร่
ทั้งนี้ เมื่อพัฒนาเป็นระบบทางคู่แล้ว คาดว่าการเดินรถจะมีความเร็วของขบวนรถโดยสารเฉลี่ย 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขบวนรถสินค้ามีความเร็วเฉลี่ย 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากขบวนรถไม่ต้องรอการสับหลีก ทำให้การเดินรถจากชุมทางหาดใหญ่ ถึงสถานีปาดังเบซาร์ ในระยะทาง 44.5 กม. จะใช้เวลาเพียง 26 นาที จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่มีคุณภาพ รื้อฟื้นบรรยากาศการเดินทางด้วยรถไฟซึ่งเป็นวิถีของภาคใต้ ซึ่งเส้นทางนี้จะรองรับจำนวนผู้โดยสาร 3.5 ล้านคน/ปี และขนส่งสินค้ำ 1.5 ล้านตัน/ปีในอนาคต
โดยการออกแบบครั้งนี้ได้ออกแบบปรับปรุงไม่ให้มีจุดตัดเสมอระดับรวม 33 แห่ง โดยออกแบบทางลอด หรือทางข้ามในรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้การเดินทางทั้งรถไฟ และรถยนต์ตลอดแนวเส้นทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งออกแบบปรับปรุงระบบกรระบายน้ำ และควบคุมน้ำท่วมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการขับเคลื่อนขบวนรถไฟจะใช้แรงดันไฟฟ้า 25 kV (AC Voltage) จาก Overhead Catenary System ผ่าน Pantograph ไปยัง Circuit Breaker และ Main Transformer เพื่อจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับให้แก่ชุดมอเตอร์ขับเคลื่อนที่ติดตั้งอยู่บนเพลาล้อของรถ
โดยติดตั้งระบบการจ่ายไฟฟ้าให้แก่ขบวนรถไฟฟ้าตลอดแนวเส้นทางจากเดิมที่การขับเคลื่อนของหัวรถจักรเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานสะอาด ไม่มีมลพิษ และมีส่วนลดสาเหตุการเกิดโลกร้อน โครงการนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะสร้างโอกาสทางการค้า เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงระหว่างอำเภอหาดใหญ่ กับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเชื่อมต่อกับทางคู่ที่มีแผนพัฒนาเป็นโครงข่ายทั่วประเทศ
ซึ่งจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นการพัฒนาสู่คุณภาพการดำเนินงานของระบบรางของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่บทบาทของการเป็นผู้นำ และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทาง และขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป