“แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์” ประกาศปรับองค์กรรองรับแผนขยายธุรกิจปี 59 ทุ่มทุน 10-20 ล้านบาท ตั้ง “APM International” ที่สิงคโปร์รับการเติบโต และแผนขยายฐานลูกค้าในอาเซียน เล็งตั้ง “บ.เอพีเอ็ม ลิสซิ่ง” ใน สปป.ลาว พร้อมศึกษาโอกาสการทำธุรกิจประกัน หวังให้บริการธุรกิจการเงิน-การลงทุนครบวงจรก่อนขยายเข้ากัมพูชา-เวียดนามในลำดับต่อไป พร้อมดัน “เสกสรร ธโนปจัย” และ “สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร” ขึ้นแท่น “ซีอีโอ” ดูแลธุรกิจในไทยแทน “สมภพ ศักดิ์พนมพันธ์” ที่ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานกรรมการฯ เน้นคุมนโยบายรุกสู่สิงคโปร์ วางเป้าปี 63 ปรับสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศเพิ่มเป็น 75% ส่วนในประเทศลดลงเหลือ 25% รายได้รวมทั้งกลุ่มดีดแตะ 1 พันล้านบาท
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซส โปร แมนเนจเมนท์ จำกัด หรือ APM แถลงถึงแผนดำเนินงานในปี 2559 ว่า บริษัทเตรียมจัดตั้งบริษัท APM International ที่สิงคโปร์ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการต่อยอดธุรกิจด้านที่ปรึกษาทางการเงินไปยังภูมิภาคให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางในการดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลาย และครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านที่ปรึกษาการเงินเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีใบอนุญาตในการดำเนินงานในด้านดังกล่าว และสามารถผลักดันให้เกิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แบบ Dual Listing ได้ เช่น การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลาว และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในอนาคต ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับเงินทุนจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งบริษัท APM International ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2559 จะมีทั้งสิ้นราว 10-20 ล้านบาท
ประธานกรรมการ APM กล่าวว่า การจัดตั้ง APM International ในครั้งนี้จะทำให้สิงคโปร์ได้มองเห็น และมีความเข้าใจถึงตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศ CLMV ได้มากขึ้น โดยมี APM เป็นตัวเชื่อมเพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ และในตลาดตราสารหนี้ของกลุ่ม CLMV มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดตราสารหนี้ใน สปป.ลาว ที่กำลังจะเริ่มมีความสำคัญขึ้นจากการเริ่มระดมทุนที่จะมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินทุนจากแหล่งต่างๆ สามารถเริ่มเคลื่อนย้ายการลงทุนเข้าสู่ สปป.ลาวได้มากขึ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เอพีเอ็ม ลาว จำกัด หรือ APM (LAO) Securities Company ที่เคยประสบผลสำเร็จจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว แล้ว 2 บริษัท ปิโตรเทรดดิ้ง ลาว (มหาชน) หรือ PTL ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการปั้มน้ำมัน และบริษัท สุวันนี โฮมเซนเตอร์ (มหาชน) หรือ SVN ที่ทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างครบวงจรใน สปป.ลาว
นายสมภพ ยังระบุเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการรองรับแผนการขยายธุรกิจในอาเซียน คณะกรรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้งให้นายเสกสรร ธโนปจัย และนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านที่ปรึกษาการเงินที่เกี่ยวต่อการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไป (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงด้านการออกตราสารทุนและตราสารหนี้ ด้านการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ และงานที่ปรึกษาเงินอิสระ (IFA) กรณีการได้มาและจำหน่ายไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นอกจากนี้ คณะกรรมการ APM ยังได้มีมติแต่งตั้งให้ นายสมภพ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการเพื่อดูแลนโยบาย และภาพรวมองค์กรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการรุกขยายธุรกิจไปยังประเทศสิงคโปร์ รวมถึงโอกาสในการจัดตั้งบริษัทภายใต้ APM ในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ซึ่งคาคว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้ง CLMV และสิงคโปร์น่าจะเป็นตลาดทุนที่มีพลังมากขึ้น
โดยในปี 2559 AMP ยังมีแผนลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มเติมใน สปป.ลาว โดยการเปิดบริษัทเอพีเอ็ม ลิสซิ่ง จำกัด เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งเก่า และใหม่ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนี้ได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ และจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 โดยกำหนดวงเงินลงทุนเบื้องต้นในการทำธุรกิจสำหรับปีแรกไว้ที่ 5 ล้านบาท แต่อนาคตจะสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้เป็น 20 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจทั้งในสายตลาดเงิน และตลาดทุนใน สปป.ลาว โดยคาดว่ารายได้จากการทำธุรกิจลิสซิ่งในปี 2559 จะมีไม่เกิน 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม APM ยังได้ศึกษาถึงโอกาสในการทำธุรกิจประกันภัยเพื่อต่อยอดธุรกิจลีสซิ่ง และเพื่อให้บริการแก่นักธุรกิจใน สปป.ลาว อีกด้วย โดยคาดว่าน่าจะมีข้อสรุปภายในช่วงปลายปี 2559-ต้นปี 2560 เนื่องจากธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิตถือเป็นธุรกิจเฉพาะที่จำเป็นต้องเสนอให้ธนาคารชาติ สปป.ลาว พิจารณาอนุมัติ
นายสมภพ ยังได้ย้ำด้วยว่า โมเดลการทำธุรกิจในลาวจะเป็นต้นแบบของการดำเนินธุรกิจของ APM ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV โดยเห็นว่ากัมพูชา และเวียดนามมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปขยายธุรกิจได้ ส่วนที่พม่า ยังมีความจำเป็นต้องศึกษากฎเกณฑ์อีกหลายอย่าง และคาดว่าการเริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่กัมพูชาของ APM น่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2559 ส่วนการขยายธุรกิจในเวียดนามนั้นจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป
ภาพรวมการทำธุรกิจในปี 2559 นั้น APM คาดว่าจะสามารถยื่นข้อมูลบริษัทเพื่อขอเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ได้ 7-8 บริษัทจดทะเบียน โดยแบ่งเป็นการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 1-2 บริษัทจดทะเบียน และในตลาด mai อีก 5-6 บริษัทจดทะเบียน เช่น ธุรกิจกาวอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เครื่องมือแพทย์ ผู้ประกอบการ OUTLET ขนาดใหญ่ และธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาด โดยมีการปรับโครงสร้างทางการเงิน และการบริหารเรียบร้อยแล้ว
ส่วนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว ของ APMLAO ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม และข้อมูลให้ลูกค้าประมาณ 2-3 ราย เช่น บริษัท สิทธิ โลจิติกส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการขนส่ง และบริษัท ร่วมพัฒนากสิกรรม จำกัดผู้เดียว ซึ่งเป็นผู้ประกอบการการทำฟาร์มหมู
อย่างไรก็ตาม APM ยังได้ตั้งเป้าหมายการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และ สปป.ลาว ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 บริษัทจดทะเบียน แบ่งเป็นจำนวนบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 35 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป. ลาวอีก 15 บริษัท นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายจะลดสัดส่วนรายได้ในประเทศให้หลงเหลือ 25% จาก 75% และเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศขึ้นเป็น 75% จาก 25% ในปัจจุบัน
สำหรับเป้าหมายรายได้รวมของทั้งกลุ่มตามแผนเมื่อถึงปี 2563 น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจลีสซิ่งจะมีไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท พร้อมทั้งย้ำแผนการจัดตั้ง APM Holding Company เพื่อนำทุกบริษัทภายใต้ชื่อ APM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่สิงคโปร์ เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้น APM ได้ใน 2 ตลาดนั้นยังต้องพิจารณาโครงสร้างบริษัทในอนาคตอีกครั้ง
ทั้งนี้ การเติบโตด้านรายได้รวมของ APM ในไทยเมื่อปี 2558 มีประมาณ 200 ล้านบาท หรือเติบโต 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนรายได้จาก APMLAO แม้ปัจจุบันจะยังไม่ปิดตัวเลขก็ตาม แต่นายสมภพบอกว่า มีเข้ามาแล้วหลาย 10 ล้านบาท