xs
xsm
sm
md
lg

“MBKET” ชี้ TU ซื้อรูเก้น ฟิช ช่วยขยายตลาดยุโรป ดันมาร์จิ้นพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โบรกฯ ชี้ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการของ รูเก้น ฟิช บริษัทอาหารแปรรูปในเยอรมนี ช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 37% และเยอรมนีมีความแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มยูโรโซน

น.ส.สุธาทิพย์ พีรทรัพย์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง หรือ MBKET กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้น Rugen Fisch ของ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ซึ่ง รูเก้น ฟิช เป็นผู้นำตลาดอาหารทะเลกระป๋องในเยอรมนี ถือเป็นการขยายตลาดอาหารทะเลแปรรูปเข้าสู่เยอรมนีที่มีกำลังซื้อสูง และมีศักยภาพแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มยูโรโซน อีกทั้งเป็นไปตามนโยบายการซื้อกิจการเพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 โดยเป็นการเพิ่มสัดส่วนแบรนด์สินค้า และกระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดจากกลุ่มประเทศยุโรป และเพิ่มสัดส่วนสินค้าชนิดอื่นๆ นอกจากปลาทูน่า และกุ้ง

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า เบื้องต้นการซื้อ Rugen Fisch ในสัดส่วน 51% จะเพิ่มกำไรให้แก่ TU ไม่น้อยกว่า 2% และทำให้ราคาเฉลี่ยมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นที่ 0.4 บาท/หุ้น จากราคาเป้าหมาย (PER) เดิมที่ 21.50 บาท ซึ่ง MBKET ยังคงคำแนะนำให้ทยอยซื้อสะสม

อย่างไรก็ตาม จากการที่ก่อนหน้านี้ TU ได้ยกเลิกการเจรจาเข้าซื้อ Bumble Bee ทำให้ TU สามารถเดินหน้าซื้อกิจการอื่นๆ โดยจะเข้าซื้อหุ้น 51% ของบริษัท รูเก้นฟิช เอจี (Rugen Fisch AG) ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้นำตลาดอาหารทะเลกระป๋องในเยอรมนี โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ผลิตได้ คือ ปลาเฮอร์ริง ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน ทั้งแบบสด และแช่เย็น จำหน่ายไปยังผู้ค้าปลีกทั่วเยอรมนี ภายใต้แบรนด์หลัก ได้แก่ RugenFisch, Hawesta (เป็นผู้นำแบรนด์อาหารทะเลกระป๋อง), Ostsee Fisch, Lysell และมีการรับจ้างผลิต (OEM) โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 37% และมีโรงงาน 3 แห่งในเยอรมนี และ 1 แห่งในลิทัวเนีย

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้บริหารเดิมของรูเก้น ฟิช ยังคงบริหารงานต่อไป อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อกิจการดังกล่าวนี้คาดว่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยเงินที่จะซื้อกิจการในครั้งนี้มาจากเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท ซึ่งมูลค่าที่ซื้อหุ้นของ Rugen Fisch ในปัจจุบันเท่ากับ 6.5 เท่าของ EBITDA หากประเมินจาก EBITDA margin ราว 11.5% จะคิดเป็น Enterprise value ของ Rugen Fisch ประมาณ 4,200 ล้านบาท ทั้งนี้ TU มี Call option ในการซื้อหุ้นที่เหลือ 49% ในช่วงปีที่ 3-5 (หลังการซื้อกิจการ) ที่ระดับราคามากกว่า 6.5 เท่าของ EBITDA

ประเด็นสำคัญของการซื้อ Rugen Fisch เป็นการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศเยอรมนี จากปัจจุบันที่ TU แทบไม่มียอดขายในเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป อีกทั้งเป็นการเพิ่มสัดส่วนสินค้าแบรนด์ เนื่องจาก Rugen Fisch มีสินค้าแบรนด์ประมาณ 60% (เทียบกับ TU 43%) นอกจากนั้น คาดจะเพิ่มสินค้าปลาทูน่าภายใต้แบรนด์ของ Rugen Fisch (ซึ่งปัจจุบันไม่มีสินค้าทูน่า) จากการที่สินค้าปลาทูน่ามีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดยุโรป ซึ่งอนาคตคาดว่าจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2% จากผลประกอบการของรูเก้น ฟิช ที่เพิ่มเข้ามา

นอกจากนี้ การซื้อกิจการคาดว่าจะเสร็จปลายเดือนมกราคม 2559 หาก TU รวมงบ Rugen Fisch จำนวน 11 เดือน คาดจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 2% ภายใต้สมมติฐานรายได้เติบโต 5% ต่อปี จากรายได้ของ Rugen Fisch เทียบกับปี 2557 ที่ 140 ล้านยูโร หรือประมาณ 5,600 ล้านบาท และสมมติฐานอัตรากำไรสุทธิ 4.7% (ระดับเดียวกับ TU) จึงคาดว่า TU รับรู้กำไรจาก Rugen Fisch ประมาณ 129 ล้านบาท หรือ 0.03 บาท/หุ้น คิดเป็นการเพิ่มกำไรให้ TU เฉลี่ยที่ประมาณ 2%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ TU ยังคงต้องระมัดระวังคือ ความเสี่ยงจากราคาปลาทูน่าผันผวนมาก และมีการแข่งขันกันสูง อีกทั้งการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นนัยทางจิตวิทยาที่สำคัญ อาจทำให้การซื้อกิจการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น