“ภากร ปิตธวัชชัย” ระบุ กองทุนต่างชาติ ยังคงมีข้อกังวลกับการลงทุนใน GMS แนะไทยควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่มีความกระตือรือร้นมากขึ้น ขณะกลุ่มประเทศชายขอบลุ่มน้ำโขงต้องยกระดับตัวเองขึ้นเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ดึงดูดเงินลงทุนสู่ภูมิภาค ส่วน PPP ยังมีปัญหาเงื่อนไขการลงทุนที่คลุมเครือทั่วทั้งโลก
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมความเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม International Capital Markets Conference (ICMC) 2015 ในหัวข้อ GMS and Beyond-The View from Global Markets ว่า ผู้บริหารจัดการกองทุนยอมรับว่าในอดีตพวกเขาไม่เคยลงทุนในประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) นอกจากลงทุนในอาเซียน 5 ประเทศ และในเวียดนาม มองว่า แม้ตลาดประเทศชายขอบ (Frontier Market) จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีในปัจจุบันก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่ยังน่าเป็นห่วง 4 เรื่อง ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจเข้าลงทุนในตลาดของประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง โดยความห่วงใยดังกล่าวนั้นประกอบด้วย ปัญหาการเข้าถึงตลาด, ปัญหาการโอนเงินออก, ปัญหาความเป็นเจ้าของ และปัญหาธรรมาภิบาลภาครัฐและเอกชน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ยังเห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังมีความต้องการที่จะเข้าลงทุนในตลาดนี้
อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะเข้าลงทุนได้จริงๆ นั้น พวกเขาคิดว่า ต้องมีธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นตัวเข้าไปทำงานในประเทศนั้นๆ และคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าสิงคโปร์ เนื่องจากมีความใกล้ชิด และมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับ GMS มากกว่า ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปทำงานในประเทศเหล่านี้ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในอดีตผู้บริหารจัดการกองทุนต่างชาติจะให้ความสนใจกับการลงทุนแก่ประเทศที่อยู่ชายขอบ เช่น ยุโรปตะวันออก เอเชีย ละตินอเมริกา แอฟริกา เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงมากกว่า ขณะที่ตลาดชายขอบในกลุ่ม CLMV กลับมีความสนใจน้อย แต่หากประเทศเหล่านี้ต้องการได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมากแล้ว ผู้บริหารจัดการกองทุนต่างชาติ เสนอว่า ควรต้องดำเนินนโยบายยกระดับตัวเองขึ้นเป็นประเทศเกิดใหม่ และแก้ปัญหาความห่วงใยใน 4 ประเด็นข้างต้น
ส่วนการดึงดูดการลงทุนจากกลุ่ม GMS นั้น ในแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มากขึ้น ต้องมีการทำกิจกรรมการซื้อขายที่มูลค่าสูงๆ อีกทั้ง นักลงทุนในประเทศควรจะมีสัดส่วนมากกว่านักลงทุนต่างประเทศที่เข้าออกจากตลาดได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งที่สำคัญประเทศในกลุ่ม GMS จะต้องมีกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อย่างเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เนื่องจากจะเป็นกลุ่มที่ลงทุนระยะยาว และหากเป็นไปได้แล้วก็ควรที่จะมีบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในแต่ละประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนี้ สำหรับเรื่องกฎระเบียบการลงทุนที่สำคัญๆ เช่น ส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาตินั้น เหล่าผู้บริหารจัดการกองทุนฯ เห็นตรงกันว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเห็น คือ ความชัดเจนของกฎระเบียบเพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องเล่นตามกติกาอย่างไรมากกว่าด้านนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) นั้น ต่างชาติมองว่าเงื่อนไขการลงทุนยังคลุมเครือ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั้งโลก และยังเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันอีกมากนอีกหลายๆ เรื่อง เช่น การแบ่งปันผลประโยชน์ โอกาสความเป็นเจ้าของของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ต่างชาติมองว่ายังมีบางอุตสาหกรรมที่นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่จากยุโรปยังคงให้ความสนใจ เช่น อุตสาหกรรมสะอาด (Green) และอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน