ลีซ อิท เร่งศึกษาแตกไลน์ธุรกิจใหม่ในปี 60 มองการร่วมทุน ซื้อกิจการ หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ หวังดันกำไรโตต่อเนื่อง ผู้บริหารฯ มั่นใจผลดำเนินงานในปีนี้จะทำรายได้ และกำไรได้เติบโตเกินเป้าหมาย 30% และคาดว่าปีหน้าจะเติบโตได้อีกกว่า 30%
นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ลีซ อิท (LIT) กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มไลน์ธุรกิจใหม่ในช่วงปี 60 ซึ่งบริษัทมองหาการลงทุนทั้งในส่วนของการเข้าร่วมทุน ซื้อกิจการ และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปีนี้ที่มั่นใจว่าจะทำรายได้ และกำไรได้เติบโตเกินเป้าหมาย 30% และคาดว่าปีหน้าจะเติบโตได้อีกกว่า 30% ตามการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ
โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/58 ของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3/58 จากการที่ภาครัฐฯ จะเร่งรัดการเบิกจ่าย ส่งผลให้ลูกค้ามีความต้องการสินเชื่อเพื่อไปรับงานจากภาครัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอี นอกเหนือจากกลุ่มไอที ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มั่นใจแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ ทั้งในแง่ของรายได้และกำไร จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังผลประกอบการ 9 เดือน ที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตแล้วถึง 50%
พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ด้วยว่า พอร์ตสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 58 จะเติบโตเกินเป้าหมายที่ 1,150 ล้านบาท จากปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว 1,162 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจะรักษาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 2%
“ช่วงที่ผ่านมา พอร์ตสินเชื่อของ LIT เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากบริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ หันมาให้ความสำคัญต่อการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือกลุ่มไอทีมากขึ้น โดยมีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการสินเชื่อของลูกค้าเอสเอ็มอี เช่น สินเชื่อเพื่อเปิด L/C เพื่อลูกค้าที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ”
สำหรับปี 59 บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้ กำไรสุทธิ และพอร์ตสินเชื่อเติบโตกว่า 30% จากปีนี้ โดยบริษัทคาดว่าจะมียอดปล่อยสินเชื่อขึ้นไปแตะระดับ 10,000 ล้านบาท จากการที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลงทุนของภาครัฐฯ รวมถึงจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่หลากหลาย และวางเป้าหมายจะมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างแตะ 1.4 พันล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ในปีหน้าจะผลักดันการเปิดวงเงินใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปัจจุบัน สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น เพื่อเพิ่มการรับซื้อลูกหนี้การค้า (Factoring) และยังเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ รวมถึงการผลักดันผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อค้ำซองประมูลงาน หรือ Bid Bond โดยเฉพาะในรูปแบบ E Bidding ตอบสนองนโยบายภาครัฐในการเพิ่มอำนาจความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประมูลที่เป็นเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าแข่งขันเสนอราคาได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม
“ด้วยกลยุทธ์เชิงบุกนี้จะเปิดโอกาสตอบสนองการเติบโตของพอร์ตลูกค้าเก่าโดยผลักดันให้ลูกค้าที่มีอยู่เดิมมาใช้สินเชื่ออื่นๆ มากขึ้นด้วย ซึ่งด้วยกลยุทธ์เชิงบุกเช่นนี้ ทีมผู้บริหารทุกคนเชื่อมั่นว่าปีหน้าก็จะเป็นปีที่ดีมากอีกปีหนึ่งของบริษัทที่สามารถส่งผ่านสัญญาที่ให้ไว้ว่า เราจะอ้วนขึ้นในทุกๆ ปีไม่ต่ำกว่า 30% ในช่วง 3 ปีแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ”