ราคาทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลง 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อออรซ์ หรือคิดเป็น 0.46% ปิดที่ระดับ 1,078 ดอลลาร์สหรัฐต่อออรซ์ โดยราคาทองเริ่มปรับลงในกรอบแคบ และมีฟื้นตัวขึ้นได้บ้างจากแรงหนุนทางเทคนิคที่ปรับลงมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ราคาทองยังมีปัจจัยกดดันจากกระแสการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางหสรัฐฯ หรือ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ หลังรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากร่วงลงติดต่อกัน 2 เดือน ประกอบกับรายงานการประชุม FED ประจำวันที่ 27-28 ต.ค.ได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของ FED มีความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเจ้าหน้าที่ FED หลายรายได้ออกมาสนับสนุนในทิศทางเดียวกันว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วง 15-16 ธ.ค.นี้ ซึ่งจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ชัดเจนขึ้นจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยกดดันทองคำ
ขณะที่ประธานธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ออกมาส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขยายวงเงินการซื้อพันธบัตร ซึ่ง ECB จะประชุมในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเป็นปัจจัยลบต่อทองคำ
ปัจจัยที่น่าติดตาม
24 พ.ย. สหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.
25 พ.ย.สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ / ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค. / ข้อมูลรายได้-การบริโภคส่วนบุคคลเดือน ต.ค. / ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือน พ.ย. / ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือน พ.ย.
26 พ.ย. ญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกเดือน ต.ค.
27 พ.ย.เยอรมนีเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.
3 ธ.ค. ประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB
15-16 ธ.ค. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ
แนวโน้มราคาทองโลกด้านเทคนิค : แนวโน้มปรับลงต่อ ราคาทอง ฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงสั้นๆ แต่ไม่สามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 5 และ 10 วันได้ ก่อนปรับลงมาต่ำกว่าทำให้แรงกดดันสัญญาณ DEAD CROSS กลับมากดดันราคาทองอีกครั้ง ขณะที่การเรียงตัวแท่งเทียนขาลงรอบใหม่อยู่ในรูปแบบ V-SHAPE ขาลงระยะสั้น + ค่าสัญญาณทางเทคนิคที่ปรับลง ทำให้ราคามีแนวโน้มปรับลงต่อตามแรงกดดันแนวโน้มลงก่อนหน้า โดยราคามีแนวรับระหว่าง 1,045-1,050 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และแนวต้านที่ 1,090-1,095 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์