ธปท. เผย ศก.ไทยไตรมาส 3/58 ดีกว่าไตรมาส 2/58 โดยมีลักษณะการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีสัญญาณการบริโภค และการลงทุนกระเตื้องขึ้น แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นทางธุรกิจ ก.ย.58 ดีขึ้นมาที่ 47.3 จาก 46.4 ในเดือน ส.ค.58 ซึ่งยังต่ำกว่าระดับ 50 ส่วนความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีฯ ที่ปรับดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 3 ดีกว่าไตรมาส 2 โดยสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นในช่วงท้ายไตรมาส 3 เห็นได้จากสัญญาณการบริโภค การลงทุนที่กระเตื้องขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นดีขึ้นบ้างแม้ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่รายได้ภาคเกษตรไม่ได้ทรุดตัวลงไปมาก และการใช้จ่ายของรัฐบาลยังมีประสิทธิภาพ โดยปีงบประมาณ 2558 ยอดการใช้จ่ายภาครัฐเติบโตร้อยละ 4.9 สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 ซึ่งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือ แต่ยอมรับมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ เรื่องการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และส่งผลต่อค่าเงินบาท และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และอาเซียน
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจเดือนกันยายน การบริโภคสินค้าคงทนยังหดตัว ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย สอดคล้องต่อรายได้ภาคเกษตรยังทรงตัวต่ำ โดยเม็ดเงินรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 10.7 โดยประมาณร้อยละ 6.3 มาจากผลิตผลการเกษตรที่น้อยลง โดยเฉพาะข้าวที่เสียหายจากภัยแล้ง และอีกร้อยละ 4.6 เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง โดยเฉพาะยางพาราที่ราคาตกต่ำ แต่สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ยังไม่รุนแรงจนกระทบให้ต้องเปลี่ยนแปลงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 ใหม่จากที่คาดการณ์ว่าโตร้อยละ 3.7
ขณะที่การนำเข้าหดตัวสูงถึงร้อยละ 21.3 โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนยังติดลบ ส่วนใหญ่เป็นการซ่อมบำรุงเครื่องจักร และใช้เครื่องจักรที่ผลิตในประเทศ ไม่ใช่การขยายกิจการ เพราะการใช้กำลังการผลิตยังต่ำ โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 58.3 เดือนกันยายน สอดคล้องต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังทรงตัวต่ำ โดยไตรมาส 3 อยู่ที่ 47 ลดลงจาก 48.2 ในไตรมาส 2 และความเชื่อมั่นธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 50.9 ลดลงจาก 52.5 ในไตรมาส 2 สะท้อนว่าการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังช้า
ด้านการส่งออกยังซบเซา ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และอาเซียนทำให้การส่งออกเดือนกันยายนหดตัวร้อยละ 7.2 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ยกเว้นหมวดยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตรุ่นใหม่ที่ขยายตัวได้ดี ส่วนภาพรวมการส่งออกไตรมาส 3 มีการหดตัวสูงถึงร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่เร่งขึ้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนกันยายน ปรับตัวดีขึ้นมาที่ 47.3 จาก 46.4 ในเดือนสิงหาคม ตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มเคมีภัณฑ์ และอาหารที่ปรับดีขึ้นตามองค์ประกอบด้านการผลิต และคำสังซื้อเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะทางธุรกิจที่ลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม เช่น สาขาโรงแรม และภัตตาคาร และสาขาก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า ภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีฯ ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่เหนือระดับ 50 โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่อุตสาหกรรม เช่น สาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สะท้อนความกังวลที่มีอยู่ต่อความชัดเจนในการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า