ASTVผู้จัดการรายวัน - หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบไร้ปัจจัยสนับสนุน แนะนักลงทุนติดตามผลประชุมเฟดกลางสัปดาห์จะส่งสัญญาณต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทิศทางใด พร้อมแนะจับตาผลตรวจสอบ FAA คาดมีผลต่อหุ้นในกลุ่มสายการบินอย่างหนีไม่พ้น วงการชู “AAV” ผลดำเนินงานโดดเด่นสุดในกลุ่ม
ดัชนีหลักทรัพย์ปิดตัวในวันสุดท้ายสัปดาห์ก่อน (22 ต.ค.) ที่ระดับ 1,416.14 จุด เพิ่มขึ้น 0.34 จุด (+0.02%) มูลค่าการซื้อขาย 31,926.86 ล้านบาท ภาพรวมตลาดแกว่งไซด์เวย์ในกรอบแคบหลังไร้ปัจจัยใหม่หนุน ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศทรงตัว โดยรวมนักลงทุนหันเก็งกำไรหุ้นขนาดกลาง-เล็กจากงบฯ ที่ทยอยออกมา
นายธีรวุฒิ กานต์นิภากุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์นี้ (26-30 ต.ค.) ดัชนีฯ คงจะแกว่งไซด์เวย์คล้ายคลึงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในช่วงกลางสัปดาห์อาจจะคึกคักจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้กลยุทธ์ในช่วงนี้ต้องเลือกเล่นเป็นรายตัว อาทิ หุ้นที่มองว่าน่าลงทุนเป็นหุ้นในกลุ่มก่อสร้าง ท่องเที่ยว และสายการบิน เป็นต้น โดยมีแนวรับ 1,412-1,400 จุด ส่วนแนวต้าน 1,420-1,435 จุด
ขณะที่ น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล. โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า หุ้นไทยมีปัจจัยบวกจากการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ช่วงนี้จะเห็นข่าวความคืบหน้าในการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ เช่น การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4G โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่คอยกดดันตลาด คือ การคาดการณ์ตัวเลขขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ว่าจะพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยอย่างไร หากคงอัตราดอกเบี้ย คาดว่า กระแสเงินทุนต่างชาติจะยังทยอยเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง แต่หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินทุนไหลออก และจะกดให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง
ติดตามผลตรวจสอบ FAA กดดันกลุ่มการบิน
ไม่เพียงเท่านี้ นักลงทุนยังต้องติดตาม กรณีสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ที่จะเดินทางมาตรวจสอบการแก้ไขข้อบกพร่องด้านมาตรฐานความปลอดภัยการบินของไทย ระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค.นี้ ซึ่งภาครัฐหวังว่า หากไทยผ่านการตรวจสอบของ FAA ก็จะส่งผลดีต่อการเข้ามาตรวจสอบของสำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป (EASA) ที่จะเดินทางมาไทยในเดือน พ.ย.นี้ และส่งผลดีต่อการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ด้วย
จากกรณีดังกล่าว นักวิเคราะห์ เชื่อว่า ผลการตรวจสอบของ FAA จะมีผลต่อหุ้นกลุ่มการบินในประเทศ ซึ่งหากผลออกมาเป็นไปในทางที่ดีจะช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นของกลุ่มสายการบินตอบรับในเรื่องดังกล่าว และเช่นกันหากผลออกมาในทางที่ไม่ดีย่อมส่งผลต่อราคาหุ้นในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
โดยนักวิเคราะห์ยกให้ AAV มีความโดดเด่นมากที่สุดในกลุ่ม โดยคาดว่าการตรวจ FAA มีโอกาสที่จะผ่านไปได้ เนื่องจากกรมการบินพลเรือนได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง 35 ข้อ ที่ FAA ขอให้ไทยแก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าการตรวจ FAA จะไม่ส่งผลกระทบต่อ AAV โดยตรง แต่หากผ่านการตรวจ FAA ไปได้จะส่งผลดีต่อการแก้ไขข้อบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ICAO ที่ประเทศไทยมีปัญหาอยู่
ขณะเดียวกัน ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีเป็นช่วง ไฮซีซันของธุรกิจสายการบิน และ AAV ยังมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว จากที่บริษัทมีการเพิ่มความถี่การบิน 4 เที่ยวบิน และขยายสายการบินอีก 4 เส้นทาง บวกกับราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มจะลดลงไปอีกจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อ AAV โดยผลประกอบการครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตขึ้น เพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดน่าจะหมดลงไปแล้ว และตัวเลขนักท่องเที่ยวที่กลับมาเติบโต 2 หลักเหมือนเดิม
ส่วนภาพรวมของกลุ่มสายการบิน นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 3/2558 (ก.ค.-ก.ย.) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และบริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ให้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชียจะมีการเติบโตที่ดี และผลประกอบการมีกำไร ขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK คาดว่าจะมีผลประกอบการขาดทุน
โดยเฉพาะ NOK นั้น เจอหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ทั้งกรณีการเปิดให้บริการสายการบินนกสกู๊ตไม่เป็นไปตามแผน โดยไม่สามารถบินไปยังประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีได้ เนื่องจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ขึ้นสัญลักษณ์ธงแดงประเทศไทย จากการตรวจพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ส่วนเส้นทางบินในประเทศก็เจอการแข่งขันราคาอย่างรุนแรงจากสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และกานต์ แอร์ ที่มีเส้นทางบินซ้ำกับ NOK
ทั้งนี้ เห็นว่า AAV น่าจะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตดีสุดในหุ้นกลุ่มสายการบิน เพราะมีผู้โดยสารชาวจีนเป็นหลัก อีกทั้งสามารถรักษาระดับรายได้ต่อคนต่อกิโลเมตร (Yield) ไว้ได้ รองลงมาคือ BA เนื่องจากไตรมาส 3 เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวยุโรปนิยมเดินทางมาเที่ยวเกาะสมุย