ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ“นกแอร์” ที่มี “พาที สารสิน” กุมอำนาจการบริหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หลังเสร็จสิ้นการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เมื่อ “บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)” ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับ 1 (39.20%) ตัดสินใจไม่นำเงินไปร่วมหอลงโรงกับนกแอร์
โดย การบินไทยตัดสินใจไม่ใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ที่ได้รับสิทธิ์ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาท จากปัจจุบันที่การบินไทยถือหุ้นในนกแอร์ 39.2% ซึ่งนกแอร์ได้เปิดจองให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 16-22 พ.ค.ที่ผ่านมา
แน่นอน เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะมองข้ามไปได้เพราะก่อนหน้านี้บอร์ดการบินไทยเคยมีมติซื้อหุ้นเพิ่มทุนของนกแอร์ไปแล้ว ก่อนที่จะกลับหลังหันในช่วงแทบจะวินาทีสุดท้าย
ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาว่า จะมีใครเข้ามาเป็น “หุ้นส่วนธุรกิจรายใหม่” ของนกแอร์หรือไม่ เพราะมีกระข่าวออกมาว่า ได้มีการเจรจากับธุรกิจการบินต่างชาติในการเข้ามาร่วมหอลงโรงใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รายแรก เป็น “ทุนสิงคโปร์” ที่คุ้นเคยกับนกแอร์ดี
ส่วนรายที่สองมีการปล่อยข่าวออกมาว่าเป็น “ทุนจากจีน”
กล่าวสำหรับสถานการณ์ทางการเงินของนกแอร์ในช่วงที่ผ่านมานั้น ต้องถือว่า ร่อแร่รุ่งริ่ง และถ้าไม่เพิ่มทุน หนทางสุดท้ายก็คือต้อง “ฟื้นฟูกิจการ” สถานเดียวเท่านั้น และเมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขงบการเงินปี 2556 ถึง ไตรมาสแรกของปี 2560 ที่นกแอร์แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะเข้าใจว่า สภาพอันยากลำบากในการทำธุรกิจของนกแอร์ได้เป็นอย่างดี
กล่าวคือปี 2556 เป็นปีเดียวที่นกแอร์มีกำไรในการประกอบกิจการที่ 1,066.10 ล้านบาท และหลังจากนั้นก็ประสบภาวะขาดทุนมาเป็นลำดับ กล่าวคือ ปี 2557 ขาดทุน 471.66 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 726.10 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 2,795.09 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2560 ที่เพิ่งแจ้งตัวเลขสดๆ ร้อนๆ ขาดทุนไปถึง 295.56 ล้านบาท ส่งผลทำให้มูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้นอยู่ที่ - 0.09 บาท
อย่างไรก็ตาม นอกเรื่องภาวการณ์ขาดทุนที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้น “งบพัง” แล้ว หากย้อนกลับไปก็จะพบว่า ที่ผ่านมานกแอร์มีข่าวที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในเรื่องการให้บริการที่กระทบกับภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร
ที่สร้างความฮือฮาจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ คือ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและนักบินที่ปะทุขึ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 โดยมีนักบินจำนวนหนึ่งสไตรก์หยุดบิน เพื่อประท้วงฝ่ายบริหาร จนต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายสิบเที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
ที่สุดนกแอร์ต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีการเช่าเหมาลำเครื่องบินจากสายการบินอื่นมาใช้บินแทน และต้องลดเที่ยวบินในประเทศลงมากกว่า 60 เที่ยวบิน
วิกฤตดังกล่าว นอกจากจะทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจแล้วยังส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับการตัดสินใจของการบินไทยที่ไม่ใช้สิทธิ์เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น ต้องบอกว่า เป็นการกลับลำในโค้งสุดท้าย จากก่อนหน้านี้บอร์ดการบินไทยเคยมีมติให้เข้าเพิ่มทุนในนกแอร์
รวมทั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้ให้สัมภาษณ์เองว่า การบินไทยได้เสนอแผนการพัฒนายุทธศาสตร์การบิน เพื่อจัดตั้ง “ไทยกรุ๊ป” หวังเชื่อมโยงการบริหารจัดการ 3 สายการบินเข้าด้วยกัน ประกอบไปด้วย การบินไทย, ไทยสมายล์ และนกแอร์
ทั้งนี้ บอร์ดการบินไทยได้ประชุมนัดพิเศษเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือเพียงวันเดียวก่อนหมดเวลาใช้สิทธิ์เพิ่มทุน โดยได้มีการถกเถียงกันอย่างหนัก ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้าน โดยฝ่ายที่สนับสนุนให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้เหตุผลว่า ต้องการให้สิทธิ์ทางการบินยังเป็นของบริษัทการบินสัญชาติไทยต่อไป เพราะเกรงว่านกแอร์จะมีผู้ร่วมทุนใหม่จากสิงคโปร์เข้ามาเป็นคู่แข่งและมีอิทธิพลในกิจการการบินของไทย และจะทำให้ทุนสิงคโปร์ได้เส้นทางการบินที่การบินไทยยกให้นกแอร์มาบินแทน แต่ในที่สุดก็เห็นควรไม่ให้มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยให้เหตุผลว่าแผนการปฏิรูปและบริหารงานของนกแอร์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการขาดทุนยังขาดความชัดเจน และไม่สามารถการันตีได้ว่า หากการบินไทยลงเงินไปแล้วจะได้ผลตอบแทนคืนกลับมาได้อย่างไร
ที่สำคัญคือ บอร์ดการบินไทยเห็นว่า หากมีการเพิ่มทุนเพื่ออุ้มนกแอร์ต่อไปจะต้องมีการเปลี่ยนตัวกรรมการบางคน โดยเฉพาะตัวผู้บริหารคือนายพาที สารสิน ออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อหาผู้บริหารมืออาชีพ เข้ามาบริหารจัดการแทน ซึ่งนายพาทีไม่เคยมีท่าที ยินยอม
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่การบินไทยไม่เพิ่มทุนในนกแอร์ สรุปรวมความได้ว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาความพร้อมของบริษัทฯ และสายการบินนกแอร์ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังไม่สมควรลงทุนเพิ่มในสายการบินนกแอร์ เพราะบริษัทฯ ควรจะมุ่งเน้นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปของบริษัทฯ ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องดำเนินการอยู่อีกมากก่อน คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้บริษัทฯ ไม่ทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทฯ ในสายการบินนกแอร์ลดลงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทฯ จะไม่ได้ทำการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ แต่บริษัทฯ จะยังคงให้ความร่วมมือในฐานะผู้ถือหุ้น เพื่อสนับสนุนให้สายการบินนกแอร์สามารถพลิกฟื้นและเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน และคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้มอบหมายให้ผู้แทนของบริษัทฯ ที่เป็นคณะกรรมการของสายการบินนกแอร์ เร่งกำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือสายการบินนกแอร์ ให้สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
ก่อนการตัดสินใจของการบินไทย โครงสร้างผู้ถือหุ้น 8 อันดับของนกแอร์ประกอบด้วย 1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 39.20% 2.นายณัฐพล จุฬางกูร 12.08% 3. นายทวีฉัตร จุฬางกูร 10.21% 4. ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 3.44% 5. นายพาที สารสิน 2.02% 6. นายสุวิทย์ สัมพัฒนวรชัย 1.16% 7. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 1.07% และ 8. นายบุญส่ง เสริมศรีสุวรรณ0.51%
และหลังการบินไทยตัดสินใจไม่เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วนเดิม ได้ส่งผลให้กลุ่มจุฬางกูรถูกจับตาเป็นพิเศษเป็นผู้ถือหุ้นรวมกันแล้วอยู่ที่ 22.29%
เป็นตระกูลจุฬางกูรซึ่งเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่าหลายหมื่นล้านชื่อ “ซัมมิท กรุ๊ป” ซึ่งคนไทยคุ้นหูกันดีผ่านบุคคลสำคัญ 2 คนคือ สรรเสริญ จุฬางกูร พี่ใหญ่ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทเครือซัมมิท นักธุรกิจที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ มูลค่านับหมื่นล้านบาท และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายคนที่ 4 ของสรรเสริญ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยุคทักษิณครองเมือง(สรรเสริญเปลี่ยนจาก “แซ่จึง” เป็น “จุฬางกูร” แทนที่จะใช้นามสกุล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ของน้องชายเหมือนคนในครอบครัว นอกจากเหตุผลของการเป็นคนต่างด้าวแล้ว ก็เพราะต้องการสร้างความเป็นตัวของเขาเอง)
ขณะที่ตัวณัฐพล และทวีฉัตร จุฬางกูร ก็คือลูกชายของสรรเสริญ จุฬางกูรและสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ ผู้ถือหุ้นรายใหม่ของนกแอร์ เพราะมีกระแสข่าวว่ามีการปูทางหรืออาจจะใช้คำว่า วางแผนล่วงหน้ามาเป็นเวลานานพอสมควรก่อนที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้ และเต็งหนึ่งก็คือหนีไม่พ้น “สกู๊ต” ซึ่ง “สิงคโปร์แอร์ไลน์” ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเคยร่วมหอลงโรงกับนกแอร์จัดตั้ง บริษัท สายการบิน นกสกู๊ต จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินราคาประหยัดระหว่างประเทศมาแล้ว
ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราได้เคยรายงานเอาไว้ว่า นกแอร์ได้ร่วมกับ สายการบินสกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์ เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท พีทแอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สายการบิน นกสกู๊ต จำกัด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ซึ่งการร่วมทุนครั้งนั้นก็เต็มไปด้วยคำถามต่างๆ นานามากมาย
นกแอร์จัดประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2557 มีมติร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ ร่วมกับ SCOOT PTE LTD. (สกู๊ต) บริษัทลูกของ สิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งมีกลุ่มเทมาเส็กถือหุ้นใหญ่
19 มิ.ย. 2557 นกแอร์มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการจัดตั้งบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด เพื่อเป็นบริษัทลูก เข้าร่วมกับสกู๊ต เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ
บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557 โดยนายพาที และนายโชคชัย ปัญญายงค์ ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีบริษัท สายการบินนกแอร์ฯ ถือหุ้น 50% นายพาที ถือหุ้น 50% มีนายโชคชัย เป็นกรรมการบริษัท ขณะเดียวกันที่ประชุมผู้ถือหุ้นนกแอร์ มีมติอนุมัติให้บริษัท นกมั่งคั่งฯ กู้เงินไม่เกิน 970 ล้านบาท เพื่อลงทุนในการถือหุ้นในบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ
บริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2556 ชื่อเดิมว่า บริษัท พีทแอร์ จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2557 (หลังนกแอร์มีมติร่วมหุ้นสกู๊ตก่อตั้งสายการบินนกสกู๊ต) เช่าโบอิ้ง 777-200 จาก Singapore Airlines อายุใช้งาน 13.9 ปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2557 พีทแอร์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 2 พันล้านบาท มีนายโชคชัยเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท มีนายปิยะ ยอดมณี เป็นซีอีโอของบริษัท มีบริษัท นกมั่งคั่งฯ ถือหุ้น 50% สกู๊ต ถือหุ้น 49% มีบุคคลอื่น 3 คนถือหุ้นรวม 1.25% (น.ส.นิภาพร โมฬีชาติ นายมณฑล วชิรกานต์ และนายสุชาติ อังค์สุวรรณ) และมีบริษัท เพื่อนน้ำมิตร จำกัด ถือหุ้น 0.75%
สำหรับบริษัท เพื่อนน้ำมิตรฯ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2557 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีนายปิยะ ยอดมณี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 33.33%
ในครั้งนั้น นายโยธิน ภมรมนตรี นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ อดีตผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เคยตั้งข้อกังขาพร้อมทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาแล้ว
เมื่อครั้งที่จับมือกัน นายพาทีประกาศออกมาชัดแจ้งว่า “พวกเราทุกคนที่นกแอร์รู้สึกตื่นเต้นกับการร่วมมือกับสกู๊ตในครั้งนี้ ในการขยายเส้นทางบินของเราไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของนกแอร์เองอยู่แล้ว ที่จะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในการเดินทางของพี่น้องชาวไทย และครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ต้อนรับผู้โดยสารต่างชาติได้มาเที่ยวประเทศไทยอีกด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศให้คึกคักยิ่งขึ้น”
ด้าน MR. Campbell Wilson, CEO ของ Scoot กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว และถือเป็น Hub สำคัญในภูมิภาคที่สกู๊ตให้ความสำคัญ พวกเราที่สกู๊ตรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับนกแอร์ ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ได้รับความยอมรับในประเทศไทย ในการตั้ง “นกสกู๊ต” เพื่อให้บริการเส้นทางบินระยะกลางและระยะไกล ด้วยเครื่องบินแบบลำตัวกว้างซึ่งสกู๊ตมีความพร้อมในส่วนนี้อยู่แล้ว เราต่างหวังว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะพัฒนาตลาดการบินในภูมิภาค และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ ตามแผนเดิม นกแอร์จะเพิ่มทุน 1,500 ล้านบาท ทุนเดิม 625 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,125 ล้านบาท ดังนั้นหากการบินไทยไม่เพิ่มทุนในสัดส่วนเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 39.2% จะทำให้สัดส่วนหุ้นใหม่ของการบินไทยลดลงเหลือกว่า 24% แต่ถ้าผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นในสัดส่วนของการบินไทยอาจมีการเพิ่มทุนมากกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้การบินไทยจะเหลือสัดส่วนหุ้นเพียง 14-15% เท่านั้น
แน่นอน เมื่อสัดส่วนการถือหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง แม้ที่ผ่านมา “พาที สารสิน” จะสามารถกุมอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งๆ ที่มีหุ้นเพียงแค่ 2% แต่ก็มิได้หมายความว่า สถานะของ “นกพาที” จะยังคงหนักแน่นดั่งภูเขาด้วย เหตุผลบางประการเสมอไป เพราะเกิดกระแสข่าวหนาหูว่า เวลานี้ เก้าอี้ของ “นกพาที” นั้น ระส่ำระสายอย่างหนัก โดยว่ากันว่าผู้บริหารคนใหม่ที่ เดอะแป๋ง นาย สมใจนึก เองตระกูล ประธานคณะกรรมการบริษัทนกแอร์ต้องการให้เข้ามาทำหน้าที่ก็คือ วิสิฐ ตันติสุนทร ที่ปัจจุบันอยู่ในบอร์ดบริหารนกแอร์ในเก้าอี้ กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ
เป็นวิสิฐที่เมื่อไล่เรียงประวัติการทำงานและสายสัมพันธ์แล้ว ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกคนที่มี “ซูเปอร์คอนเนกชัน” ในระดับที่ไม่ธรรมดา
วิสิฐเคยผ่านงานมาทั้งในเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารของ แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเคยมีชื่อผ่านเกณฑ์เข้าชิงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) การบินไทย อีกต่างหาก
วันนี้ นกแอร์กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า จะเดินไปในทิศทางใด มีวาระซ่อนเร้นลับลวงพรางอย่างคาดไม่ถึงหรือไม่
ที่สำคัญคือ คงต้องรอการเพิ่มทุนในรอบต่อไปที่จะมีการเจรจาขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่พร้อมจะเพิ่มสัดส่วนหุ้นมากกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ด้วย
และสุดท้ายจะเป็นไปตามที่ได้มีการฟันธงเอาไว้ล่วงหน้าหรือไม่ว่า หุ้นส่วนใหม่ของนกแอร์ก็คือ สกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์