xs
xsm
sm
md
lg

บอส “ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” แจงบอร์ด “ไทยโพลีคอนส์” ขายหุ้น TPCH ไม่กระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม่ทัพใหญ่ “ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” แจงบอร์ด “ไทยโพลีคอนส์” ขายหุ้น TPCH ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เหตุบริษัทแม่ระบุชัดเจนจะเลือกนักลงทุนที่จะลงทุนในระยะยาว และเป็นผู้ที่มีศักยภาพเกื้อกูลธุรกิจของ TPCH อีกทั้งแผนการธุรกิจเดินหน้าไม่มีสะดุด ระบุกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ได้ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 ผลักดันอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งในส่วนของรายได้ และกำไรเติบโตต่อเนื่อง เปรยนักลงทุนสถาบัน และกองทุนสนใจถือหุ้นเพียบ

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการบริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY มีมติให้ขายหุ้นที่ถืออยู่ใน TPCH ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน คือ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ได้ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 โดยจะเน้นในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากมีประสบการณ์ และความชำนาญในการทำงานในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีการวางกลยุทธ์บริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานในระยะยาวอีกด้วย

“สาเหตุที่ TPOLY ขายหุ้น TPCH ออกมาเพราะมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ คือ ต้องการเงินทุนใช้สำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต และเพื่อล้างขาดทุนให้บริษัทฯ มีกำไร และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ ในส่วนของ TPCH เองไม่ได้กังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะยังมีนักลงทุนสถาบัน กองทุนให้ความสนใจที่จะเข้ามาถือหุ้น TPCH ซึ่งตอนนี้เราก็ยังคงเปิดกว้างสำหรับคนที่สนใจจะเข้ามาถือหุ้นของ TPCH และที่สำคัญการขายหุ้นออก โดย TPOLY ได้ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเลือกขายนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนที่ต้องการถือลงทุนระยะยาว และต้องเป็นผู้ที่มีศักยภาพช่วยส่งเสริมเกื้อกูลธุรกิจของ TPCH ได้ด้วย” นายเชิดศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบัน TPCH มีบริษัทย่อยด้วยกัน 7 บริษัท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าแล้ว มีกำลังการผลิตเสนอขาย จำนวน 17 เมกะวัตต์ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) และโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) อยู่ระหว่างขั้นตอนของการก่อสร้าง มีกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมีกำลังการผลิต จำนวน 46 เมกะวัตต์

“อีก 3 ปี ภาพของ TPCH ก็จะเติบโตทั้งรายได้ และกำไร โดยเป็นการเติบโตที่มั่นคงแน่นอน เพราะบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แน่นอน ส่วนโรงไฟฟ้าที่ล่าสุดจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว และทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ทันที คือ แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ออกมาในทิศทางที่ดี เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ คือ ระบบ Feed in Tariff (FiT) แทนที่ระบบ Adder” นายเชิดศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น