xs
xsm
sm
md
lg

“ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” เตรียมขายไฟหลังได้ Feed-in Tariff 3 โครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH
ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มั่นใจรายได้พุ่งหลังคว้าใบตอบรับซื้อไฟฟ้าในระบบ Feed-in Tariff 3 โรงไฟฟ้าแม่วงก์ เอ็นเนอยี-สตูล กรีน-พัทลุง กรีน เพาเวอร์ ส่วนอีก 2 โรงไฟฟ้ามหาชัย กรีน เพาเวอร์-ทุ่งสัง กรีน อยู่ระหว่างดำเนินการรอใบตอบรับโอกาสได้ใบอนุญาตเกินกว่า 90% แน่นอน เตรียมเดินหน้างานไตรมาส 2/58 ต่อเนื่อง และมั่นใจทั้งปีรายได้โต 30-40% จากปีก่อนที่ทำได้ 258.26 ล้านบาท ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงก์ เอ็นเนอยี่ กำลังการผลิต 8 MW เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/58 รับรู้รายได้ทันที หนุนผลประกอบการสดใส

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH กล่าวว่า ไตรมาส 2/2558 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ 30-40% จากปีก่อนที่ทำได้ 258.26 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/2558 บริษัทมีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรกไบโอเพาเวอร์ (CRB) จำนวน 58.78 ล้านบาท

“ไตรมาส 2 ปีนี้ โรงไฟฟ้าช้างแรกได้หยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนซ่อมบำรุงของบริษัท และให้สอดคล้องต่อแผนซ่อมบำรุงสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นเวลา 8 วัน จึงไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส 2 และคาดว่าผลประกอบการน่าจะออกมาดี และเป็นไปตามที่บริษัทคาดไว้ ส่วนทั้งปีก็คงจะเติบโตตามเป้าหมายอย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ ในปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 5 แห่ง ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงก์ เอ็นเนอยี่ (MWE), โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP), โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG), โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) โดยบริษัทคาดว่า MWE กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 3/2558 ส่วน MGP คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4/2558

ขณะที่โครงการ TSG จะสามารถจำหน่ายไฟได้ปลายไตรมาส 1/2559 และโครงการ PGP และ SGP ได้เริ่มงานก่อสร้างแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการขอ PPA ในระบบ FiT จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยคาดว่าจะได้รับภายในเร็วๆ นี้ ทั้งยังมีลุ้นใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าปัตตานีกรีน 1 (PTG1) ขนาด 23 เมกะวัตต์ ภายในเดือนนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในปี 2558 เพิ่มจำนวน 30-50 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมั่นใจว่าในปี 2560 จะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ และในปี 2562-2563 จะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์อย่างแน่นอน ในแง่กำลังการผลิต โดยจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า ใน 3 ปีครึ่ง จะส่งผลให้รายได้ และกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งการเติบโตของบริษัทเป็นการเติบโตที่เป็นไปได้จริง เนื่องจากได้รับใบอนุญาต และดำเนินการก่อสร้างแล้ว จึงวางเป้าหมายที่จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ ซึ่งบริษัทมีกลุ่มพันธมิตรที่พร้อมจะเติบโตไปตามเป้าหมายที่บริษัทได้วางไว้

“มั่นใจว่ารายได้จะออกมาสดใส หลังจากที่บริษัทได้ใบตอบรับซื้อไฟฟ้าในระบบ Feed-in Tariff 3 โรงไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงก์ เอ็นเนอยี (MWE) ,โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน (TSG) และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) ส่วนอีก 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP), โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG) อยู่ระหว่างดำเนินการ มั่นใจเกินกว่า 90% ได้รับแน่นอน เร็วๆ นี้”

ทั้งนี้ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ “TPCH” ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ และให้บริการสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ลงทุนในบริษัทย่อยที่มีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ PTG และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ได้แก่ CRB, MGP, TSG, MWE, PGP และ SGP โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการทางภาคใต้ทั้งหมด 5 โครงการ ได้แก่ CRB, TSG, PGP, SGP, และ PTG ในอนาคตอันใกล้นี้จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ครอบคลุมโซนภาคใต้ และขยายไปสู่ต่างประเทศด้วยมาตรฐานระดับสากล
กำลังโหลดความคิดเห็น