ASTVผู้จัดการรายวัน - “บางกอกแอร์เวย์ส” คาดรายได้ปี 58-59 เติบโตปีละ 10-15% จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคน ย้ำจะทำนิวไฮกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง ปีหน้าเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่กรุงเทพฯ-ดานัง ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ เตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่เป็นเครื่องบิน ATR อีก 2 ลำ พร้อมปลดระวางเครื่องบินเก่า 5-6 ลำ คาดราคาขายเครื่องบินเก่าจะมีราคา 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อลำ
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) คาดรายได้ปี 58 และปี 59 จะเติบโตปีละเติบโต 10-15% จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นนับจากปีนี้ที่ 5.3-5.4 ล้านคน ทั้งในปีหน้าจะรับเครื่องบินใหม่รุ่น ATR รุ่นเข้ามเพิ่มอีก 3 ลำ และอยู่ระหว่างเจรจาเช่าเครื่องบินแอร์บัสเพิ่มด้วย
ส่วนผลกำไรสุทธิในปี 59 คาดว่าจะทำนิวไฮต่อเนื่องจากปีนี้ซึ่งคาดว่าจะทำนิวไฮเช่นกัน โดยคาดจะมีอัตรากำไรสุทธิที่ 9.2% ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมต้นทุน สำหรับยอดจองช่วง 11 เดือนล่วงหน้า หรือ 330 วัน ในปัจจุบันมีแล้วทั้งสิ้น 9.65 แสนคน
สำหรับแผนเปิดเส้นทางการบินใหม่ในปี 59 บริษัท เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ไปเวียดนาม คือ กรุงเทพฯ-ดานัง รวมทั้งยังศึกษาเส้นทางบินที่เกาะฟุก๊วก ซึ่งอยู่ทางใต้ของเวียดนาม และคาดว่าน่าจะเปิดบริการในปลายปี 59 นอกจากนี้ BA ยังอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเที่ยวบินร่วม (Code Share) อีก 3 พันธมิตร ได้แก่ สายการบินออสเตรีย, ไชน่าอีสเทิร์น และโคเรียแอร์ ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทจะมีโค้ดแชร์จำนวน 20 สายการบิน
อย่างไรก็ตาม ในปี 58 นี้ นายพุฒิพงศ์ คาดหมายว่าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) จะอยู่ที่ 68-69% ต่ำกว่าเดิมที่คาดไว้ที่ 70% เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้นักท่องเที่ยวจากยุโรปลดลง นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันใน จ.เชียงใหม่ ที่ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารน้อยลงด้วย ส่วน Cabin Factor ในปีนี้ยังสูงกว่าปีที่แล้ว คือ อยู่ที่ 64% โดย 6 เดือนแรกของปีนี้ BA สามารถทำได้ที่ 68%
ด้านภาพรวมท่องเที่ยวปี 58 ในช่วงครึ่งปีแรกเหตุการณ์บ้านเมืองในไทยสงบทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก ส่งผลให้กำไรสุทธิครึ่งปีแรกของปี 2558 มีประมาณ 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบจากปีก่อนช่วงเดียวกันทำได้ 200 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจากอาเซียน เช่น กัมพูชา ยังรวมถึงนอกภูมิภาค เช่น จีน ยุโรป เกาหลี และญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมองว่าจากนี้ไปเติบโตได้ประมาณ 10% ต่อปี
นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทยังมีแผนที่จะเพิ่มเที่ยวบินให้ครอบคลุมเส้นทางการบินในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยเริ่มในไตรมาส 4/58 ได้แก่ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต เพิ่มจาก 8 เที่ยวบิน/วันเป็น 9 เที่ยวบิน/วัน กรุงเทพฯ-สมุย จาก 5 เที่ยวบิน/วัน เป็น 6 เที่ยวบิน/วัน เส้นทาง สมุย- สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจาก 10 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 12 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เชียงใหม่-ย่างกุ้ง จาก 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เชียงใหม่-มัณฑะเลย์ จาก 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์เป็น 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ส่วนกรุงเทพฯ-พนมเปญ จาก 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จะเริ่มในเดือน ม.ค.59
ขณะเดียวกัน ได้พิจารณาที่จะยกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพฯ-อุดรธานี เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากมีสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาให้บริการมากขึ้น โดย BA จะไม่เน้นแข่งราคาแต่จะเสนอการให้บริการที่สะดวก และดีกว่า และเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้ให้บริการจำนวนมาก ถือเป็นตลาดของสายการบินต้นทุนต่ำ ส่วนการยกเลิกเส้นทางบินสายดังกล่าวของ BA คาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 58 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของบริษัทดีขึ้น และจะนำเครื่องบินไปบินในเที่ยวบินอื่นได้
สำหรับแผนก่อสร้างโรงซ่อมเครื่องบินที่สุวรรณภูมิ โดยมีวงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอพื้นที่ 8,000 ตร.ม. ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ และ BA จะเริ่มทำการก่อสร้างได้ในปี 59 นอกจากนี้ บริษัทยังจะใช้เงินลงทุนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารสนามบินสมุย อีก 1,000 ล้านบาท รวมทั้งจะนำเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท ใช้เช่าซื้อเครื่องบินใหม่ 3 ลำในปีหน้า โดยแหล่งเงินจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่ปัจจุบันมีอยู่ 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ BA ยังมีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่เป็นเครื่องบิน ATR จำนวน 2 ลำ ซึ่งจะทำให้จำนวนฝูงบินเมื่อถึงสิ้นปีนี้จะมีทั้งสิ้น 33-34 ลำ โดยจำนวนนี้แบ่งเป็นเครื่องบินแบบเช่ากว่า 20 ลำ และเป็นเครื่องบินที่ BA เป็นเจ้าของเองอีก 10 ลำ ในขณะเดียวกัน บริษัทยังจะปลดระวางเครืองบินเก่า 5-6 ลำ โดยจะนำออกขายได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงปี 59 ซึ่งคาดว่าราคาขายเครื่องบินเก่าจะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ลำ ทั้งนี้ ณ สิ้น ต.ค. 58 BA มีฝูงบิน 30 ลำ เป็นแอร์บัส 19 ลำ ATR 11 ลำ อายุเฉลี่ย 6 ปี โดยมีเครื่องบินที่มีอายุมากสุดที่ 11-12 ปี
“ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังในปี 59 คือ เรื่องราคาน้ำมันที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นต้นทุนหลักซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของต้นทุนทั้งหมด โดยปัจจุบันบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ที่ 50% ของปริมาณใช้น้ำมัน และคาดว่าในปี 59 จะทำประกันความเสี่ยงต่อเนื่องที่ระดับ 50%” นายพุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย