“คลัง” เตรียมผุดกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยรัฐบาลค้ำประกันรายได้ช่วงแรก เพื่อดึงดูดนักลงทุน “ทีมเศรษฐกิจ” ประกาศเดินหน้านโยบาย 4 ด้าน หวังดึงเศรษฐกิจฟื้นตัวระยะยาว ดึงทุกฝ่ายร่วมมือ-เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา Post Forum 2015 “ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย กับทีมเศรฐกิจใหม่” โดยระบุว่า หลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งรถไฟ ระบบราง ถนนมเตอร์เวย์ ท่าเรือน้ำลึก และที่ผ่านมา กองทุนลงทุนโครงส้รางพื้นฐาน (Infrastructure Fund) กระจายอยู่หลากหลายกองทุน กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดรวมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ทั้งประเทศเป็นกองทุนเดียวกัน เพื่อระดมทุนจากทั้งรายย่อย นักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนประกันสังคม บริษัทประกัน กบข. กองทุนรวม ที่ต้องการลงทุนในระยะยาว เพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการของรัฐ โดยรัฐบาลพร้อมค้ำประกันผลตอบแทนในช่วงแรก เนื่องจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ช่วงแรก 4-5 ปี จะไม่มีผลตอบแทนหรือผลตอบแทนต่ำ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กล่าวว่า เมื่อบริหารกองทุนอย่างเป็นระบบ รัฐบาลค้ำประกันให้ผลตอบแทน กองทุนโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการจัดเรตติ้งสูงขึ้น และยังเปิดให้กองทุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนด้วย อีกทั้งการรับเหมาก่อสร้าง ต้องการเปิดให้บริษัทเอกชนหลายกลุ่มร่วมตัวยื่นข้อเสนอเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล เพื่อไม่ให้การรับเหมาโครงการใหญ่ของรัฐบาลกระจุกตัวเพียงเอกชนรายเดิม 4-5 รายในปัจจุบัน
หลังจากได้ออกมาตรการช่วยเหลือรายย่อย ทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา มองว่า เป็นมาตรการที่ขับเคลื่อน และพยุงให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นปัญหาในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ได้หวังจะให้จีดีพีขยายตัว
ก้าวต่อไปของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การปรับความสมดุลการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ที่เคยพึ่งพาการส่งในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาความอยากจนในต่างจังหวัด เพื่อเติบโตเหมือนกับในเมืองหลวง จึงต้องให้น้ำหนักในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะต้องการให้เกษตรกร 30 ล้านคน มีฐานะดีขึ้น ผ่านความร่วมมือจากท้องถิ่น ทั้ง อบต. อบจ. กรอ. ภูมิภาค โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในพื้นจะเข้ามาช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา
2.การปรับระบบการผลิตของเอกชน จากเคยเน้นเพียงให้มีต้นทุนต่ำ ขยับไปสู่การใช้นวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าการผลิต แทนระบบรับจ้างการผลิตจากออเดอร์ในช่วงที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันค่าเงินบาทแม้จะอ่อนเหลือ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังส่งออกไม่ได้มากนัก โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมมือกัน ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม สวทช. มหาวิยาลัย สภาวิจัย เพื่อมาร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเติบโตขึ้นมาจำนวนมาก มุ่งเน้นไปสู่ในกลุ่ม Start Up ที่มีศักยภาพ ผ่านการร่วมลงทุน การหาเงินทุน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างจริงจัง
3.การดูแลผู้ประกอบการผ่านระบบคลัสเตอร์ เพื่อเน้นในกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม และจะยกระดับจากการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปสู่ภาคบริการ ซึ่งมีจุดแข็งคือการท่องเที่ยว ดังนั้น จะเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น ซึ่งให้บีโอไอไปศึกษาเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ
4.การพัฒนาระบบการเงินการคลังของประเทศ ยกระดับตลาดทุน เดินรื้อกฎระเบียบตลาดทุนให้สอดคล้องกับทิศทางของตลาดโลก นอกจากนี้จะปฏิรูประบบงบประมาณ โดยจะให้งบประมาณสองขา คือ งบประมาณที่จัดสรรตามยุทธศาสตร์ ที่เป็นวาระสำคัญจะบูรณาการทกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กับงบประมาณตามภาระกิจของส่วนราชการ หรืองบประจำ
“กรณีที่ ดร.วีรพงษ์ มารางกูร ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นแบบตัว “ยู” แต่เชื่อว่า หากดำเนินการตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบเครื่องหมายไนกี้ แน่นอน” นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติม
นายอภิศักดิ์ กล่าวเสริมรองนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า การดำเนินนโยบายเฟส 2 ระยะต่อไปจะเน้นการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมต่อยอดกลุ่มยานยนต์ อุตฯ การแพทย์ และอุตฯ การบิน ให้มีมาตราการจูงโดยให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าเพื่อดึงการลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้ ส่วนเฟส 3 เป็นการลงทุนตามแผนเมกะโปรเจกต์ ที่วางเอาไว้เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตของประเทศได้อีก 10-20 ปีข้างหน้า
ส่วนแนวคิดด้านนโยบายภาษี กระทรวงการคลังมีเป้าหมายลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับนิติบุคคลที่ลดลงไป แต่ต้องดูแลไม่ให้กระทบการจัดเก็บรายได้ และการจัดทำงบประมาณรวมทั้งต้องปรับปรุงกระบวนการชำระภาษีให้ง่ายและสะดวก โดยลดรายการให้น้อยลง ส่วนของภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างนั้น รัฐบาลจะเดินหน้าต่อ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนเพื่อให้กระทบต่อคนส่วนใหญ่น้อยที่สุด
นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักต่อไป ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินนั้น ต้องการผลักดันระบบ E-Payment โดยดึงทุกหน่วยงานมาร่วมทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อลดการชำระด้วยเงินสด และหันไปใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทน และเชื่อมโยงระบบกับกรมสรรพากรในการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการชำระค่าสินค้าและบริการ ช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านบัตรประชาชน เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินมาตราการอุดหนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยตรง คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะได้เห็นโครงร่างภายใน 1 เดือนนับจากนี้
นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้องการส่งเสริมภาคเอกชนผ่านการพัฒนาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีชั้นสูง ผ่านกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี จะได้รับการยกเว้นภาษีอย่างเต็มที่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี่ เช่น ไบโอ ฟู้ดไฮโดรโพรนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ รองรับการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลต้องการเร่งเดินหน้าวางระบบขนส่งเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายและท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านความร่วมกับไทย-ญี่ปุ่น ในการสร้างระบบราง กาญจนบุรี-กทม.-สระแก้ว- แหลมฉบัง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งด้านตะวันตก ตะวันออกจากเมียนมา ผ่านไทย ไปกัมพูชา และเวียดนาม กลางปีหน้าจะเสนอ ครม.พิจาณาได้ นอกจากนี้ยังต้องการเดินหน้าการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก ตะวันออกด้านบน ผ่านด่านแม่สอด-นครสวรรค์-มุกดาหาร และเร่งเจรจากับจีนเพื่อเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าเส้นทาง กทม.-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมมากขึ้น