ตลท.เผย 9 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด SET และ mai สูงกว่า 13 ล้านล้านบาท โดยปรับลดลงเล็กน้อย แค่ 7.95% พร้อมยืนยันตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังมีสภาพคล่องสูง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 1,261 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ ASEAN-5
นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ SET และ mai ณ สิ้นไตรมาส 3/2558 อยู่ที่ 13.11 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.95 จากสิ้นปี 2557 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ SET และ mai ในไตรมาส 3/2558 อยู่ที่ 41,154 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.35 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่าการซื้อขายต่อวันในตลาด SET และ mai อยู่ที่ร้อยละ 45,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในไตรมาส 3/2558 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 213,999 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.70 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures โดยเดือนกันยายน ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 228,574 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เทียบกับเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2558 มีนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย 2,605 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2558 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 3,072 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) เดือนกันยายน 2558 ปิดที่ระดับ 1,349 จุด ลดลงร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 9.9 จากสิ้นปี 2557 โดยการปรับตัวลงของดัชนีเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และปรับลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับดัชนี MSCI Asia ex Japan และ MSCI Emerging markets
อย่างไรก็ดี นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงมีสภาพคล่องสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ ASEAN-5 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 1,261 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
สำหรับสถานการณ์เงินทุนไหลออก สาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ทิศทางนโยบายของเฟด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป จีน และญี่ปุ่น ราคาน้ำมันที่ผันผวน และทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แม้จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ก็ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชนให้ขยายตัวดีขึ้น ถือเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และช่วยจูงใจให้ภาคเอกชนกล้าที่จะลงทุนในปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้ามากขึ้น และถ้ามีการลงทุนต่อเนื่องก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว