ธนาคารโลก ประเมินเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะเติบโตได้เพียงร้อยละ 2.5 ช้าสุดในอาเซียน แนะปฏิรูปใน 3 ด้านหลัก พร้อมระบุตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 และรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้น
นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงินและสถาบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ธนาคารโลกปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือโตเพียงร้อยละ 2.5 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3 ถือว่าอัตราเติบโตช้าสุดในอาเซียน เนื่องจากไทยมีปัญหาด้านโครงสร้างจากการบริหารประเทศที่ต้องใช้เวลาในการปฏิรูปกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ โดย 3 ด้านที่ต้องปฏิรูป คือ ด้านแรก ไทยจะต้องมีการพัฒนาการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดที่เติบโตได้จากการส่งออก จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้ง่าย
ด้านที่ 2 ไทยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และด้านที่ 3 คือ พัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพประชากร และพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มากขึ้น จึงจะช่วยให้จีดีพีไทยขยายตัวสูงขึ้นได้ในระยะยาว
ธนาคารโลก ชี้ว่าตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 และรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวร้อยละ 0.8 แม้ว่ายังมีสัญญาณการอ่อนแอของการส่งออกอยู่บ้างก็ตาม แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปีนี้ยังขยายตัวได้ร้อยละ 6.5
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2 และการส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 ขณะที่ปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 และการส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 1.3 โดยยังมีความเสี่ยงมีจากเศรษฐกิจจีนในปีหน้า จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 6.7 และมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น