xs
xsm
sm
md
lg

เผยความท้าทายปีหน้า Flow อาจไหลกลับ ชี้ความไม่สมดุลตลาดเงินโลกเกิดจาก “เอเชีย-สหรัฐฯ” ปรับ ดบ.สวนทางกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอดีบี” หั่นคาดการณ์ “จีดีพี” ของไทยปีนี้เหลือโตแค่ 2.7% เนื่องจากครึ่งปีแรกเติบโตต่ำเพียง 2.9% พร้อมจับตาผลมาตรการกระตุ้น ศก.อาจทำให้ปี 59 จีดีพีโตได้กว่า 3.8% ส่วนความท้ายทายในปีหน้า คือ การไหลออกของเงินทุนจากเอเชียกลับไปสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มขึ้น ดบ.สวนทางกับเอเชียที่จะต้องลด ดบ.ในการกระตุ้น ศก. อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลในตลาดการเงินโลก และส่งผลให้ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงมากรวมทั้งเงินบาท ซึ่งต้องจับตาว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยการส่งออกได้แค่ไหน เนื่องจากเงินสกุลเอเชียอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน โดยเชื่อว่าจะมีผลต่อเงินกู้ระยะสั้นให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยมีเงินกู้ระยะสั้นต่ำจึงไม่น่ากังวล

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า เอดีบีลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้เหลือโตเพียงร้อยละ 2.7 จากเดิมร้อยละ 3.6 เนื่องจากครึ่งปีแรกจีดีพีโตต่ำเพียงร้อยละ 2.9 ประกอบกับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของจีน และอุปสงค์ที่เบาบางลงของประเทศอุตสาหกรรม

ส่วนปี 2559 ได้ปรับลดจีดีพีลงเช่นกันเหลือโตร้อยละ 3.8 จากเดิมคาดการณ์โตร้อยละ 4.1 ประเมินว่า การลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเริ่มลงทุน จะเข้ามาหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การประมาณการครั้งนี้ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ดังนั้น หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยอัดฉีดเม็ดเงินตำบลละ 5 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือสินเชื่อเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพ เม็ดเงินดังกล่าวจะเห็นผลชัดเจนปี 2559 ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีปี 2559 อาจจะโตได้มากกว่าร้อยละ 3.8 โดยหวังว่าการลงทุนภาครัฐทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะประมูลเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบปีหน้าจะเป็นตัวนำเศรษฐกิจไทยทำให้เกิดการจ้างงาน และกิจกรรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตามมาในช่วงปี 2559-2561 และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นด้วย

“เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่าการจับจ่ายฝืดเคืองบ้าง โดยปีนี้ภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนเป็นพระเอก และหวังว่าการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นปี 2559″

ส่วนภาคการส่งออกปีนี้ติดลบร้อยละ 2 โดยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คือ จีน และอาเซียนชะลอตัวลง หวังว่าการส่งออกปี 2559 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3-4 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักจะดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แต่ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ตามความต้องการของตลาดโลกที่มีความต้องการสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง โดยหวังว่าการที่รัฐบาลจัดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือซูเปอร์คลัสเตอร์ จะตรงต่อความต้องการของตลาดโลก

ด้านสถานการณ์การเมือง ยังไม่ใช่ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ แต่เป็นห่วงเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งต้องระวังไม่ให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกระทบต่อความมั่นใจของผู้ลงทุน

ส่วนความท้าทายปี 2559 คือ การไหลออกของเงินทุนจากเอเชียกลับไปสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเอเชียที่จะต้องลดดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่สมดุลในตลาดการเงินโลก และส่งผลให้ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงมากรวมทั้งเงินบาท ซึ่งต้องจับตาว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยการส่งออกได้แค่ไหน เนื่องจากเงินสกุลเอเชียอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน แต่อาจจะมีผลต่อเงินกู้ระยะสั้นให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยมีเงินกู้ระยะสั้นต่ำจึงไม่น่ากังวล

นอกจากนี้ ยังมีความท้าท้ายเรื่องราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ยังต่ำ ซึ่งไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สูงยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น