xs
xsm
sm
md
lg

TISCO จับมือพันธมิตรกลุ่มแบงก์หนุนปรับโครงสร้างหนี้ SSI

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) และบริษัทย่อย สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค (SSI UK) โดยเป็นยอดหนี้รวมของธนาคารทิสโก้ ประมาณ 4.4 พันล้านบาท แบ่งเป็น SSI จำนวน 821 ล้านบาท และ SSI UK จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,570 ล้านบาท

จากกรณีที่บริษัทลูกของ SSI ในประเทศอังกฤษ (SSI UK) บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กแท่งแบนคุณภาพสูงในประเทศอังกฤษ ประกาศหยุดดำเนินงานลงชั่วคราวเนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากปัจจัยทางการตลาดเหล็กแท่งแบนที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับมีต้นทุนการดำเนินการสูงจึงส่งผลให้มียอดขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ SSI UK ไม่สามารถประกอบธุรกิจอีกต่อไป และตัดสินใจหยุดผลิตชั่วคราว และส่งผลต่อฐานะทางการเงินของ SSI ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของ SSI UK จำนวน 790 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้กำลังร่วมมือกับ SSI ในการหาแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพของบริษัทซึ่งมีความแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำในตลาดเหล็กม้วนรีดร้อนในประเทศ โดย ธ.ทิสโก้ จะมีการตั้งสำรองเงินให้สินเชื่อทั้งจำนวนจึงจะไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของทิสโก้อย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้อันประกอบด้วย ธ.ทิสโก้ ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของ SSI ที่ร่วมกันสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ SSI UK ได้พยายามให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดดอกเบี้ยเงินกู้ การผ่อนผันการชำระเงินกู้ เพื่อให้ SSI UK ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจในประเทศอังกฤษได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อ SSI UK ได้ประกาศหยุดผลิตชั่วคราว ทิสโก้ และธนาคารผู้สนับสนุนสินเชื่อจะร่วมกับ SSI วางแผนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทิสโก้เชื่อมั่นว่า SSI จะยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะ SSI มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในตลาดเหล็กม้วนรีดร้อนภายในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง การก่อสร้าง และอะไหล่ต่างๆ ประการสำคัญคือ SSI มีความสามารถในการหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นได้ดี แม้ว่า SSI UK อาจหยุดการผลิตก็ตาม

ทั้งนี้ ธนาคารได้ทยอยตั้งเงินสำรองหนี้สูญเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยจะตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก 1,400-1,500 ล้านบาท ให้ครบ 100% ในไตรมาสที่ 3 นี้ การตั้งสำรองดังกล่าวเป็นการตั้งสำรองโดยหักมูลค่าหลักประกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหลักประกันในส่วนของ SSI UK จะกำหนดให้มีมูลค่าเป็นศูนย์เนื่องจากไม่สามารถประเมินราคาได้อย่างชัดเจนในภาวะปัจจุบัน ภาระการตั้งสำรองดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานประจำปีของบริษัทบ้างแต่ไม่เป็นนัยสำคัญ เนื่องจากได้กันเงินสำรองไปก่อนหน้านี้แล้วอย่างเพียงพอ ประกอบกับภาวะคุณภาพสินทรัพย์ส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ภาระการกันเงินสำรองที่เกี่ยวข้องลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ที่จะสามารถสนับสนุนผลการดำเนินงานได้

ในส่วนของสินเชื่อที่ให้แก่ SSI UK ธนาคารมีแผนที่จะตัดหนี้สูญภายหลังจากการตั้งสำรองเต็ม 100% ตามนโยบายของธนาคารซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากส่วนของสินเชื่อที่ให้กับ SSI คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.34% ของสินเชื่อรวม โดยคาดว่า SSI จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วเสร็จในระยะเวลาต่อไป อนึ่ง การตั้งสำรองในระดับสูงดังกล่าวเป็นไปเพื่อสนับสนุนกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีประสิทธิผล โดยคาดว่าผลเสียหายสุดท้ายที่เกิดขึ้นจริงจะมีจำนวนน้อยกว่าระดับเงินสำรองที่ตั้งในครั้งนี้ทั้งหมด ซึ่งบริษัทจะได้รับรู้เป็นรายได้จากการหนี้สูญรับคืนในอนาคตต่อไป

ธนาคารทิสโก้ยังมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยภายหลังจากการเปลี่ยนสถานะลูกหนี้ของกลุ่ม SSI เป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และตั้งสำรองครบร้อยละร้อย ระดับเงินกองทุนของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง BIS Ratio ยังคงสูงถึงประมาณร้อยละ 18 และ Tier I Ratio ประมาณร้อยละ 13
กำลังโหลดความคิดเห็น