xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” งัดมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน ครวญเบิกจ่ายงบลงทุนอืดหลุดเป้าแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” งัดมาตรการช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ เล็งคืนภาษีผู้ประกอบการมือสองขายประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมแจง 11 เดือนแรกปีงบ 58 เบิกจ่ายงบรวมพุ่ง 85% งบประจำฉลุย 90% ด้านงบลงทุนใช้เงินอืดประเมินสิ้นปีงบหลุดเป้า 1 แสนล้านบาท สรรพสามิตเผย 11 เดือน จัดเก็บรายได้ทะลุเป้า 2.3 พันล้านบาท อานิสงส์ภาษีน้ำมันดันผลงานเด่น

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษามาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ หลังจากที่พบว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบยอดขายรถยนต์ใหม่ และมือสองในประเทศ โดยเฉพาะรถมือสองที่มีล้นตลาดจำนวนมาก จึงมีแนวคิดสนับสนุนให้สามารถระบายรถยนต์มือสองไปยังเพื่อนบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งแนวทางที่มีความเป็นไปได้ คือ การพิจารณาคืนภาษีรถยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีการส่งรถยนต์ไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้านจริง แต่ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมของเม็ดเงินในการเสียภาษี และอัตราการคืนที่ลดทอนลงมาจากอัตราที่จัดเก็บจากรถใหม่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการส่งออกรถมือสองไปยังต่างประเทศเนื่องจากมีราคาแพง ไม่สามารถแข่งขันกับญี่ปุ่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบตามด่านชายแดน เช่น แม่สอด จะมีรถยนต์จากญี่ปุ่นมาพักเพื่อรอส่งไปยังพม่าเป็นจำนวนมาก แต่ในอนาคตหากรัฐบาลสนับสนุนการคืนภาษีให้แก่ผู้ส่งออกของไทย น่าจะช่วยให้รถมือสองถูกระบายไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 คัน และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม ซึ่งจะทำให้รถใหม่ขายได้มากขึ้นด้วย โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ให้มีการปลดล็อกรถยนต์คันแรกจาก 5 ปี เป็น 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างดูความเหมาะสม และต้องพิจารณาทางด้านกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ และถือเป็นคนละส่วนกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถยนต์มือสอง เพราะการปลดล็อกดังกล่าวจะเน้นช่วยผู้ประกอบการที่จำหน่ายรถใหม่มากกว่า

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ในรอบ 11 เดือนแรก งบประมาณรวม 2.57 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.19 ล้านล้านบาท หรือ 85% แยกเป็นงบประจำวงเงิน 2.15 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 1.95 ล้านล้านบาท หรือ 90% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบลงทุนวงเงิน 4.15 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.39 แสนล้านบาท หรือ 57% โดยยังมีงบลงทุนที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีกถึง 1.76 แสนล้านบาท ซึ่งในเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้อีกจำนวนมาก แต่ก็คาดว่าจะมีงบลงทุนเบิกจ่ายไม่ทันไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

“การเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ทันดังกล่าวสอดคล้องต่อการปรับแผนการกู้เงินของงบประมาณปี 2558 ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลดวงเงินกู้ลงประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากการลงทุนของรัฐ และรัฐวิสาหกิจหลายแห่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ไม่ทันตามแผนที่วางแผนไว้”

นอกจากนี้ ในส่วนของงบลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ในปีงบประมาณ 2558 ถูกบรรจุไว้ในงบใช้จ่ายประจำ และมีการเบิกจ่ายไปแล้วโดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมา ยังมีปัญหาเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกตรวจสอบการทำงานจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้เงินดังกล่าวยังค้างท่ออีกจำนวนมาก เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณคาดว่าจะมีเงินส่วนนี้ไม่เบิกจ่ายอีกจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน งบลงทุนเหลื่อมปีวงเงิน 3.51 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปรากฏว่า เบิกจ่ายได้เพียง 1.99 แสนล้านบาท หรือ 56% คาดว่า สิ้นเดือนนี้จะมีเงินค้างท่ออีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เช่นกัน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทีมเศรษฐกิจใหม่ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนต่างๆ ล่าช้าแล้ว และรู้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่าการเบิกจ่ายจะทำได้รวดเร็ว เพราะโครงการส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาดำเนินการ และหลายโครงการมีปัญหาถูกตรวจสอบความถูกต้องทำให้เดินหน้าต่อไมได้ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน เร่งโครงการลงทุนมูลค่าไม่ถึง 1 ล้านบาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และการให้เงินตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการขนาดเล็ก โดยทั้ง 2 มาตรการจะใช้เงินให้หมดได้ภายใน 3 เดือน เป็นการเติมเงินเข้าสู่ระบบพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปก่อน

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีของกรมในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่ 11 ของปีงบประมาณ 2558 จัดเก็บได้ 3.68 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.3 พันล้านบาท หรือประมาณ 7% ซึ่งเป็นการเก็บภาษีน้ำมันได้เกินเป้า 6.7 พันล้านบาท หรือ 121% จากการปรับเพิ่มอัตราภาษี และปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ถูกลงมาก นอกจากนี้ ยังเก็บภาษีเครื่องดื่มได้เกินเป้า 40 ล้านบาท หรือ 3%

สำหรับการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในรอบ 11 เดือน เก็บได้ 4.03 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.69 หมื่นล้านบาท หรือ 4% เนื่องจากการเก็บภาษีน้ำมัน ยาสูบ และเครื่องดื่ม สูงกว่าเป้าหมาย ส่วนภาษีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เบียร์ สุรา ยังต่ำกว่าเป้าหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น