ตลาดหลักทรัพย์ mai เดินหน้าสร้างมูลค่าตลาดฯ เตรียมความพร้อมบริษัทจ่อคิวเข้าจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง วางแผนดำเนินงานปัจจุบันสร้างฐาน ต่อยอดอนาคตแข็งแกร่ง เตรียมผนึกหน่วยงานทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เอกชน รวมถึงบริษัทจดทะเบียนสร้างโครงข่ายทางการเงิน คลังความรู้ด้านการลงทุนหนุนผู้มีฝันอยากทำธุรกิจ
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดแผนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการวางรากฐานให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐบาล และเอกชนสร้างโครงข่ายทางการเงินที่เหมาะสมให้แก่ผู้ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ปัจจุบัน มีบริษัทที่แสดงความประสงค์จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น mai มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีบริษัทที่มีที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาให้การดูแลแล้ว ณ ปัจจุบัน 80 บริษัท อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนใน 1-3 ปี และยังมีอีกกว่า 100 บริษัทที่ต้องการคำปรึกษา และเตรียมความพร้อม โดยตลาด mai จะเน้นด้านการเข้าไปให้ความรู้ของบริษัทเพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเบื้องต้น เช่น เรื่องระบบบัญชี การควบคุมภายใน การจัดโครงสร้างบริษัท แนวทางการเข้าจดทะเบียน และการเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน นอกจากนี้ จะมีในส่วนของ IPO FOCUS ที่จะเน้นในรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น ได้แก่ การเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ ความเสี่ยง ระบบบัญชี และหลักสูตรการให้ความรู้สำหรับ CFO ของบริษัทจดทะเบียน
“ผมว่าความผันผวนบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น เวลาทำงานเราจึงเน้นที่จะควบคุมความผันผวนที่สามารถควบคุมได้ เช่น เราจะไม่พูดว่ามูลค่ารวมตลาดฯ จะเป็นเท่าไหร่ แต่จะพูดว่าเราจะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนอีกเท่าไหร่ หมายความว่า เราเพิ่มมูลค่าให้ตลาดฯ ได้อีกเท่าไหร่”
ผู้จัดการตลาด mai ระบุในปัจจุบันแหล่งระดมทุนมี 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.Crowd Funding : การระดมทุนจำนวนไม่มากจากประชาชน หรือองค์กรจำนวนมาก เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 2.Venture Capital : การระดมทุนด้วยการร่วมทุน 3.Angel Investor : เครือข่ายนักลงทุนส่วนบุคคล และ 4. Private Fund : กองทุนส่วนบุคคล หน้าที่ของ mai คือประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงกัน
“ผู้บริหารบริษัทต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง mai เราก็ทำหน้าที่ “ที่ปรึกษา” ที่ดีให้เขา คือ ให้คำแนะนำ ให้ความรู้ผ่านการจัดสัมมนาหลักสูตรต่างๆ ให้อย่างต่อเนื่อง จัดให้ทั้งผู้บริหาร และระดับพนักงาน เพิ่มศักยภาพให้เขาสามารถมาศึกษาต่อยอดความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน หาเวทีให้เขาได้แสดงศักยภาพของตนเอง ขณะเดียวกัน mai จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเข้าด้วยกัน เปรียบเสมือนศูนย์กลางความรู้ด้านการระดมทุน ให้ SME คือ เดินเข้ามาที่เดียวจบครบ เป็นการประหยัดเวลาให้เขา ผมว่าคนที่ต้องการสร้างธุรกิจด้วยตัวเองเขามีความสามารถ เราเพียงสร้างทางเชื่อมให้เขาสามารถเดินได้ถูกทาง เขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพได้เอง”
อีกโครงการหนึ่งที่ทางตลาด mai กำลังดำเนินการ คือ การให้บริษัทที่จดทะเบียนใน mai เป็น “พี่เลี้ยง” หรือเป็น “พาร์ตเนอร์” ให้แก่บริษัทที่สนใจเข้ามาจดทะเบียนในตลาด mai ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจทางหนึ่ง
นายประพันธ์ แบ่งกลุ่ม 116 บริษัทจดทะเบียนในตลาด mai เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ขาดทุนติดต่อกัน 4 ไตรมาส กลุ่มนี้มีประมาณ 25% ซึ่งก็พร้อมที่จะปรับระบบการบริหารจัดการพลิกกลับมาทำกำไรในอนาคต 2.กลุ่มที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ กลุ่มนี้มีประมาณ 40% โดยมี PE หรือความสามารถในการทำกำไรประมาณ 40 เท่า และ 3.กลุ่มที่มีผลการดำเนินงานดีมาก ประมาณ 40% ซึ่งกลุ่มนี้มี PE หรือความสามารถในการทำกำไรมากกว่า 40 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม ตลาด mai ก็มีโครงการพัฒนาด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ
“การที่เรามีกองทุนจากธนาคารกรุงไทยเข้ามาลงทุนในตลาด mai เป็นการเพิ่มความมั่นใจ และสร้างการเข้าถึงการลงทุนให้นักลงทุนระดับหนึ่ง เพราะการที่นักลงทุนจะลงลึกมาศึกษาฐานะของทุกบริษัทคงเป็นไปไม่ได้ หน้าที่ของเรา คือ ทำอย่างไรที่จะพูดให้ “ดัง” ขึ้น เราก็เลยสร้างทางเชื่อมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในบริษัทผ่านกองทุน เป็นการยืนยันว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai ก็น่าลงทุน แต่ขนาดของกองทุนก็มีความสำคัญ เพราะกองทุนเขาลงทุนระยะยาว ถ้าเขาต้องถือยาวก็ต้องมีกำไรที่เหมาะสมให้เขา ทาง mai เราก็ต้องทำให้พอเหมาะ และเมื่อบริษัทจดทะเบียนใน mai แข็งแกร่งพอที่จะเข้าจดทะเบียนใน set ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัทว่าจะอยู่ใน mai ต่อไป หรือจะย้ายเข้า set เพราะเราก็ทำหน้าที่สร้างความแข็งแกร่งให้อย่างเท่าเทียมกัน และเราก็ทำหน้าที่ของเราอย่างต่อเนื่อง”