กรมโยธาฯ ประเมิน และวิเคราะห์ “อุโบสถวัดต้นเชือก” ถล่ม คาดต้องรื้อถอนเหตุโครงสร้างหลักเกิดความเสียหาย พร้อมดำเนินการหาผู้ดำเนินการ คาดแล้วเสร็จรื้อถอนภายใน 15 วันหลังทำสัญญากับวัด
จากกรณีที่อุโบสถวัดต้นเชือก หมู่ 4 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พังถล่มระหว่างการดีดยกอาคาร เมื่อวันที่ 25 ส.ค.58 เวลา 15.30 น. ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย ล่าสุด กรมโยธาธิการและผังเมือง ส่งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการรื้อถอนอาคารอย่างปลอดภัยต่อไป
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุข้อเท็จจริง และความเสียหายกรณีอุโบสถเก่าอายุ 60 กว่าปี ของวัดต้นเชือก พังถล่มระหว่างการดีดยกอาคาร พบว่า ทางวัดได้ว่าจ้างผู้รับเหมาบุคคลซึ่งไม่มีวิศวกรผู้ออกแบบ และวิศวกรผู้ควบคุมงานทำการดีดยกอาคารอุโบสถ ขนาด 7.50 เมตร×24.80 เมตร ให้สูงขึ้นจากเดิม 3 เมตร โดยไม่มีการขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จากท้องถิ่น ซึ่งก็คือเทศบาลตำบลบางใหญ่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.2557 กำหนดแล้วเสร็จ 30 ส.ค.2558 แต่ได้เกิดการทรุดตัวพังถล่มทำให้มีคนงานเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 3 ราย พร้อมทั้งได้หารือร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานต่อไป
หลังจากทีมวิศวกรกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ตรวจสอบความเสียหายของสภาพอาคารอุโบสถโดยทั่วไปทั้งแนวราบ และทางดิ่ง ได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารอุโบสถที่เกิดเหตุออกทั้งหมด เนื่องจากโครงสร้างหลักเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง มีสภาพอาคารที่เป็นอันตราย โดยทางกรมฯ ได้ให้คำแนะนำขั้นตอน วิธีการ รวมถึงการจัดหาผู้ดำเนินการรื้อถอนที่มีมาตรฐานตามหลักการวิศวกรที่ดี และถูกต้อง เพื่อดำเนินการรื้อถอนอาคารอุโบสถอย่างปลอดภัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจากทำสัญญากับทางวัด ซึ่งระหว่างการรื้อถอน ทางโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี จะส่งวิศวกรเข้ามาช่วยควบคุมดูแลการดำเนินงานต่อไป และในขณะนี้ทางกรมฯ ได้หารือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ เขตตลิ่งชัน ให้ช่วยยกพระประธานออกจากซากอุโบสถก่อนการรื้อถอนตามความต้องการของทางวัด
ในด้านของกฎหมาย ทางกรมฯ ได้ให้คำแนะนำแก่เทศบาลว่า จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับอาคารของวัด ตามแนวทางที่กรมฯ ได้เคยมีหนังสือเมื่อ 13 มิถุนายน 2557 แจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สืบเนื่องจากกรณีแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย) โดยมีสาระสำคัญว่า
(1) กรณีหากยังไม่มีการออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างวัดวาอาราม หรืออาคารต่างๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนาไว้แล้วเป็นการเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน ฯลฯ พ.ศ.2550 ข้อ 2(4) ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารศาสนสถานให้วัดวาอารามปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 21 ที่กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
(2) กรณีหากได้มีการออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างวัดวาอาราม หรืออาคารต่างๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนาไว้แล้วเป็นการเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน ฯลฯ พ.ศ.2550 ข้อ 2(4) ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารศาสนสถานให้วัดวาอารามปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฯ ข้อ 2 วรรคสอง ที่กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศฯ จำนวน 2 ชุด ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารไม่น้อยกว่า 30 วัน