xs
xsm
sm
md
lg

กนง. จับตาการจ้างงาน-รายได้ครัวเรือนปรับลดลงอาจกดดันเอ็นพีแอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บอร์ด กนง.สั่งติดตามผลกระทบภาวะการจ้างงาน และรายได้ครัวเรือน ควบคู่สัญญาณความเปราะบาง SMEs หลังจำนวนชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และหนี้เสียของธุรกิจเพิ่มขึ้น ห่วงลดดอกเบี้ยเพิ่มอาจกระทบเสถียรภาพตลาดการเงินในระยะสั้นภายใต้ตลาดการเงินโลกผันผวนสูง

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5 ของปีนี้ ซึ่งเป็นมุมมองเพิ่มเติมของกรรมการว่า ระยะข้างหน้าปัจจัยลบมีมากขึ้น ทำให้ภาพรวมประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของทั้งปี 58 ปรับลดลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน และท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความเสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น กนง.เห็นถึงความจำเป็นของการติดตาม และประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาวะการจ้างงาน และรายได้ของครัวเรือนในภาคเศรษฐกิจต่างๆ

“จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่ำลงโดยเฉลี่ยอาจส่งผลกระทบต่อระดับรายได้ การบริโภค รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน จึงเป็นประเด็น กนง.จะติดตามควบคู่กับการติดตามสัญญาณความเปราะบางของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า สะท้อนจากการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อธุรกิจกลุ่มดังกล่าว” ในรายงานดังกล่าวระบุ

ทั้งนี้ ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยสาเหตุมาจากการปรับลดชั่วโมงการทำงานนอกภาคเกษตรตามภาวะเศรษฐกิจ และปัญหารายได้เกษตรกรตกต่ำ และภัยแล้ง ส่งผลให้แรงงานบางส่วนโยกย้ายออกจากภาคเกษตรไปทำงานชั่วคราวในภาคการผลิต และภาคบริโภค

การประชุม กนง.ครั้งล่าสุดได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปี เพราะเห็นการผ่อนคลายของภาวะการเงินโดยรวมจากค่าเงินเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และต้นทุนระดมทุนลดลง อีกทั้งกรรมการบางส่วนเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจส่งผลต่อเสถียรภาพตลาดการเงินในระยะสั้นภายใต้ภาวะตลาดการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง และยังคงติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และแนวโน้มการออมของครัวเรือนในระยะยาวต่อไป

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดต่ำสุด และจะค่อยๆ ปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากฐานราคาน้ำมันสูงทยอยหมดไป

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลง และราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าประมาณการเดิมอาจทำให้ช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเป็นบวกเลื่อนออกไปจากที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนเล็กน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น