สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2/58 เติบโตได้ 2.8% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1/58 ที่เติบโต 3% โดยมีการชะลอตัวทั้งภาคเกษตร การอุปโภคบริโภค และการลงทุน สำหรับแนวโน้มทั้งปียังคงเป้าที่ 3% แต่ปรับลดช่วงการขยายตัวลงเป็น 2.7-3.2% ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถพยุงในระดับนี้ได้ ถือว่าน่าพอใจ ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 5-6% คงไม่น่าเป็นห่วง แต่หากเงินบาทอ่อนค่าลงเกิน 7% จึงเป็นระดับน่ากังวล
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/58 ขยายตัว 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐและการส่งออกด้านบริการขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของภาครัฐ และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในด้านการผลิต สาขาโรงแรม ภัตตาคาร ก่อสร้าง ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สาขาเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่ครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวในระดับ 2.9%
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ระบุว่า ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/58 เติบโตชะลอลงมาที่ 2.8% เทียบกับ 3% ในไตรมาส 1/58 เนื่องจากเศรษฐกิจภาคนอกเกษตรชะลอลง 3.5% ส่วนภาคเกษตรหดตัว 5.9% ขณะที่ GDP ปรับฤดูกาลทรงตัวที่ 0.4% เทียบกับที่ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสที่แล้ว
ด้านการใช้จ่ายในประเทศ การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ขยายตัว 1.5% ชะลอจากที่ขยายตัว 2.4% ในไตรมาสที่แล้ว จากอำนาจซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทน และค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการหดตัว
ส่วนการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนยังคงเพิ่มขึ้น และการอุปโภคขั้นสุดท้ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้น 4.6% ตามการค่าใช้จ่ายหมวดค่าตอบแทนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการสุทธิชะลอลง
สำหรับการลงทุนรวม ชะลอลง 2.5% เทียบกับที่ขยายตัว 10.7% ในไตรมาสที่แล้ว โดยการลงทุนภาครัฐชะลอลง 24.7% ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน หดตัว 3.4% ส่วนภาคต่างประเทศ ดุลการค้าและดุลบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล 291.1 พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล 261.9 พันล้านบาท และดุลบริการเกินดุล 29.2 พันล้านบาท
สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง คือ ตัวเลขการท่องเที่ยวขยายตัวอัตราสูง เนื่องจากยอดนักท่องเที่ยวยังสูงกว่า 7 ล้านคน ขยายตัว 37.6% นับว่าเป็นการเพิ่มตัวแบบเร่งขึ้นจากไตรมาส 1 นับว่าเป็นปัจจัยมาทดแทนการส่งออก ซึ่งหดหายไป 4% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในภูมิภาคจีน ฮ่องกง มาเลเซีย ขยายตัวถึง 61.9% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐครึ่งปีหลังทั้งโครงการที่มีอยู่และโครงการใหม่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการสร้างมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 14,000 ล้านบาทจะลงนามได้ภายในสิ้นปีนี้ และในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหากรัฐบาลพยุงให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3% ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ
ส่วนกรณีค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง 2-3% ช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากค่าเงินของประเทศในภูมิภาคเริ่มอ่อนค่าลงไปล่วงหน้าแล้ว เช่น ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปก่อนหน้าแล้ว 5% จากเดือนมกราคมเทียบกับเดือนกรกฎาคม จีนจึงต้องการให้ค่าเงินหยวนสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
ดังนั้น เงินบาทอ่อนค่า 5-6% คงไม่น่าเป็นห่วง แต่หากเงินบาทอ่อนค่าลงเกิน 7% จึงเป็นระดับน่ากังวล และจีนต้องการให้เงินหยวนอยู่ในทุนสำรองของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จึงต้องการสร้างความน่าเชื่อถือคงไม่ทำให้เงินหยวนอ่อนค่ามากเกินไปจนกระทบต่อความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการปรับลดลงตามค่าเงินของภูมิภาค
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สศช.ยังคาดจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3 แต่ลดช่วงคาดการณ์ลดเหลือ 2.7-3.2% จากเดิมช่วงคาดการณ์ 3-4% หลังจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 2.8% อัตราเงินเฟ้อหดตัว 0.2-0.7% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.8% ส่วนกรณีเงินเฟ้อติดลบขณะนี้ยังไม่ถือว่าอยู่ในภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นผลราคาน้ำมันลดลงและภาคครัฐปรับลดค่าโดยสารสาธารณะ
สำหรับปัญหาภัยแล้งกระทบต่อดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง จะรอดูสถานการณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อปรับจีดีพีอีกครั้ง ส่วนปัจจัยสนับสนุนให้ได้เฉลี่ย 3% ยังคงเป็นการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐต่อเนื่องจากปีแรก จำนวนนักท่องเที่ยที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าลงของเงินบาทเพื่อสนับสนุนการส่งออก ราคาน้ำมันยังลดลงต่อเนื่อง ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ การมีนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อดูแลเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงราาคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาภัยแล้งบางพื้นที่