xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” แนะภาษีมรดกเกิน 100 ล้านบาท ผ่อนชำระได้ 5 ปี หากหลีกเลี่ยง-โอนย้ายเจอโทษหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ขุนคลัง” แนะภาษีมรดกเกิน 100 ล้านบาท ผ่อนชำระได้ 5 ปี หากหลีกเลี่ยงไม่ยื่นแบบเจอปรับหนัก 5 แสนบาท แต่ถ้าหัวหมอโอนย้ายทรัพย์สินโดนโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และหากให้ทรัพย์สินในช่วงมีชีวิตอยู่กับบุตรหลาน-คู่สมรสไม่เกิน 20 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีการให้ คาดมีผลบังคับใช้อีก 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกให้มีผลบังคับใช้อีก 180 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ววันที่ 5 สิงหาคม 2558 สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษี เมื่อได้รับมรดกไม่ว่าจะได้รับมาครั้งเดียว หรือหลายครั้ง หากมรดกได้รับจากเจ้าของมรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนเกิน 100 ล้านบาท สำหรับบุคคลอื่น แต่หากผู้ได้รับมรดกเป็นบิดา มารดา หรือลูกหลานผู้สืบสันดานให้เสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี การคำนวณเสีย ประเมินจากอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิหักด้วยภาระค่าธรรมเนียม กรณีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ประเมินราคาหลักทรัพย์เวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันได้รับมรดก โดยต้องยื่นแบบการเสียภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเสียภาษีสามารถผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี หากขอผ่อนชำระครบถ้วนภายใน 2 ปี ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระครบถ้วนเกิน 2-5 ปี ให้เสียเงินเพิ่มบางส่วนตามกำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ กฎหมายลูก หากไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีภายใน 10 ปีนับแต่วันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยต้องจ่ายเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียขาดไป เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม

หากไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่รวมเบี้ยปรับ กรณีที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษี และได้ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่เลื่อนให้นั้น เงินเพิ่มลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน นอกจากนี้ ยังเปิดให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ชำระภาษีทั้งหมด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาหากมีคำร้องเพิ่ม และหากไม่เห็นด้วยต่อผลการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

โดยจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภทต่างๆ ประกอบด้วย 1.อสังหาริมทรัพย์ 2.หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนจากสถาบันการเงิน หรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

สำหรับบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่ 1.ผู้ได้รับมรดกจากเจ้าของมรดกเสียชีวิตก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ 2.คู่สมรสของเจ้าของมรดก 3.บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ 4.หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ 5.บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ส่วนกรณีผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล โดยต้องจดทะเบียนในประเทศไทย หรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว

ส่วนบทกำหนดโทษกรณีไม่ยื่นแบบโดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากได้ทำลาย ย้ายทรัพย์สิน ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัดไปให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท จงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 บังคับใช้สำหรับการให้ทรัพย์สินในช่วงมีชีวิตอยู่ เมื่อได้รับเงินจากการอุปการะ หรือการให้โดยเสน่หาจากบิดา มารดา บุตรหลาน หรือคู่สมรส วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษีการให้ ส่วนการได้รับเพื่ออุปการะ หรือให้โดยเสน่หา จากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี โดยทั้ง 2 ประเภทเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท
โปรดเกล้าฯ กฎหมายภาษีมรดกฉบับใหม่ มีผลอีก 180 วัน-มรดกเกิน 100 ล้านต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้าน
โปรดเกล้าฯ กฎหมายภาษีมรดกฉบับใหม่ มีผลอีก 180 วัน-มรดกเกิน 100 ล้านต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้าน
โปรดเกล้าฯ “พ.ร.บ.ภาษีมรดก พ.ศ.2558 ” มีผลอีก 180 วัน เผย กำหนดให้ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวกันหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท มรดกที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมีทั้งหมด 5 ประเภท กำหนดโทษกรณีไม่ยื่นแบบต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ยึด อายัดมรดก จากการค้างชำระภาษี หากทำลายหรือย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนมรดกไปให้บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น