“สศค.” เผยฐานะการคลัง 9 เดือนแรก ปีงบฯ 58 รายได้นำส่ง 1.636 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% เป็นผลจากรายได้ภาษีน้ำมัน-ภงด. และประมูล 3 จี ขณะที่การเบิกจ่ายงบฯ สูงขึ้น 7% ขณะที่ “บสย.” เผยผลดำเนินงาน 6 เดือน ยอดค้ำประกันฯ 4.2 หมื่นล้านบาท ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รอบ 24 ปี เฉพาะเดือน มิ.ย. พุ่งขึ้น 7,214 ราย ชูแผนครึ่งปีหลัง ผนึก 3 แบงก์ ลุยช่วยรายย่อยต่อเนื่องสู่เป้า 1 แสนล้าน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-มิ.ย.58) โดยระบุว่า รัฐบาลมีรายได้นําส่งคลังทั้งสิ้น 1,636,035 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 82,139 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.3
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียนและการนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 3G ความถี่ 2.1 GHz
ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณมีจํานวนทั้งสิ้น 2,031,288 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 132,505 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 ส่งผลให้เงินคงคลังสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีจํานวนทั้งสิ้น 263,839 ล้านบาท
“การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 7 สะท้อนถึงความพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป”
ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในรอบ 6 เดือน (1 ม.ค.-30 มิ.ย.58) เป็นไปตามเป้าหมาย โดยยังพบความสำเร็จการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2557 คือ ยอดค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2558 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รวม 41,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 ขณะที่มีผู้ใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อเท่ากับ 24,571 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 137
ต่อมาในเดือนมีนาคม บสย. มีผลดำเนินงานยอดเยี่ยม โดยมียอดค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดในรอบ 6 เดือน วงเงิน 9,454 ล้านบาท เดือนมิถุนายน มีจำนวนผู้ขอใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อมากที่สุดทุบสถิติการค้ำประกันสินเชื่อแบบจำนวนรายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 24 ปีของ บสย. คือ 7,214 ราย โดยมียอดการค้ำประกันสินเชื่อ 7,644 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อยผ่านสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน
สำหรับ 5 อันดับ ธนาคารที่ร่วมกับ บสย.ในการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2558 คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
นายวัลลภ กล่าวว่า ผลดำเนินงานในรอบ 6 เดือน ปี 2558 จำนวนลูกค้ารายใหม่ 18,000 ราย มาจาก โครงการ Micro Entrepreneurs 9,990 ราย คิดเป็นยอดอนุมัติการค้ำประกัน 1,007 ล้านบาท แสดงว่า แผนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้โครงการประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 24 ปี บสย.อนุมัติการค้ำประกันไปแล้ววงเงินรวม 433,407 ล้านบาท และมีการค้ำประกันสะสม 285,417 ล้านบาท
ส่วนครึ่งปีหลังจะให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านกิจกรรมทุกรูปแบบผ่านกิจกรรมทุกรูปแบบ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ปรับเป้าการค้ำประกันสินเชื่อเป็น 100,000 ล้านบาท
“การเติบโตของ บสย.ครึ่งปีแรก แสดงให้เห็นว่า ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่คึกคัก สถาบันการเงินสามารถใช้ บสย.ในการเพิ่มสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ และเวลาเดียวกัน ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น จึงถือว่า บสย.เป็นเครื่องมือของรัฐที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” นายวัลลภ กล่าวสรุป