xs
xsm
sm
md
lg

แนะดูบทเรียนปัญหาเศรษฐกิจกรีซจากกลุ่มอียู ก่อนเดินหน้าเออีซีเต็มสูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับคนไทยยังขาดข้อมูลทาง ศก. ประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะเริ่มเข้าสู่ AEC แนะดูบทเรียนปัญหาเศรษฐกิจกรีซจากกลุ่ม EU หากมองไม่ทะลุจะเกิดความเปราะบางมากในอาเซียน เมื่อมีผลประโยชน์ความขัดแย้งจากการค้าการลงทุนที่จะมาจากประเทศมหาอำนาจ เล็งผลักดันใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าการลงทุน การเชื่อมโยงตลาดทุน และการร่วมพัฒนาใช้ ATM Network ภายใต้แบรนด์อาเซียน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง 2558 เรื่อง “ความพร้อมการเชื่อมตลาดการเงิน ระบบชำระเงิน และสถาบันการเงินไทย ภายใต้เออีซี” โดยระบุว่า เมื่ออาเซียนรวมตัวกันจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใหญ่กว่าอาเซียนไม่ถึง 5 เท่า ประชากรอาเซียนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจโลกเพียงร้อยละ 0.5 สหรัฐฯ ใหญ่กว่าจีดีพีไทยถึง 46 เท่า

ทั้งนี้ ความสำคัญของการร่วมตัวกันในกลุ่มอาเซียนจึงมีสูงมาก ทั้งด้านทางการค้า การลงทุนร่วมกันของอาเซียนเริ่มใกล้เข้ามามากขึ้น แต่ยอมรับว่าคนไทยรับรู้ข้อมูลของสหรัฐฯ ยุโรป มากกว่าเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ลาว พม่า เวียดนาม ซึ่งกำลังจะร่วมมือกันมากขึ้นในด้านการค้า การลงทุน และเริ่มค้าขายกันมากขึ้นใกล้เคียงกับยุโรป และสหรัฐฯ และจากปัญหาเศรษฐกิจกรีซในกลุ่มสหภาพยุโรป เพราะกรีซใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่อาศัยเครดิต EU ในการกู้เงิน หากการรวมตัวของกลุ่ม EU จะสมบูรณ์แบบต้องร่วมตัวทั้งด้านการเมือง และรวมตัวแบบสมบูรณ์ในทุกรูป ไม่เฉพาะร่วมมือลดภาษี ร่วมมือด้านตลาด การลงทุน นโยบายการเงินเท่านั้น

“หากมองไม่ทะลุจะเกิดความเปราะบางมากในอาเซียน เมื่อมีผลประโยชน์ความขัดแย้งจากการค้าการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจ กลุ่มอาเซียนจึงต้องรว่มมืออย่างเหนียวแน่น ทั้งด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) เมื่อร่วมมือในทุกด้านจะเกิดอำนาจต่อรองเป็นกลุ่มใหญ่หนึ่งเดียวกัน จะทำให้มีน้ำหนักดึงดูดการลงทุนได้มากกว่าการออกไปเจรจาแบบโดดเดี่ยวประเทศเดียว”

ดังนั้น การรวมตัวของกลุ่มอาเซียนทางการเงินจึงมีความสำคัญ เช่น การร่วมมือทางการเงินด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินเป็นเหมือนกับถนนให้คนอาเซียนได้เดินทางเข้าไป จากนั้นมีระบบการเงินเสรี ด้วยการมีด่านตรวจของแต่ละประเทศน้อยลง เพื่อปล่อยให้เงินทุนเข้าออกได้คล่องตัว จากนั้นจะมีแบงก์ขยายสาขาไปอยู่ในประเทศเพื่อต่างทำหน้าที่เหมือนไกด์นำเที่ยวว่าควรไปลงทุน หรือไปเที่ยวที่ไหนบ้าง

ดังนั้น ขณะนี้จึงได้เจรจากับมาเลเซีย เพื่อใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายลงทุน ทั้งเงินบาท และริงกิต แทนการใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งสองประเทศยอมให้แบงก์ไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน บาท/ริงกิต แและแบงก์ในมาเลเซียกำหนด ริงกิต/เงินบาท โดยพร้อมมีเงินสกุลทั้งสองประเทศพร้อมให้แลกเปลี่ยน และจะขยายความร่วมมือดังกล่าวกับประเทศสมาชิกอีกหลายประเทศ เช่น พม่า

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งระดมทุนรองรับความต้องการเงินของประเทศสมาชิกในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเชื่อมโยงตลาดทุน หากหุ้นตัวใดต้องการออกไปประดมทุนก็สามารถไปจดทะเบียนในกลุ่มอาเซียนได้ โดยสามารถนำเงินออกไปลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น เช่น การร่วมพัฒนาใช้ ATM Network ภายใต้แบรนด์อาเซียน โดยมีความรู้อย่างเพียงพอในประเทศเพื่อนบ้าน แต่การเชื่อมโยงของระบบการเงินต้องมีระบบป้องกันความเสี่ยงให้เพียงพอ เพราะหากเกิดปัญหาลุกลามเชื่อมโยงถึงกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น